พลังงานไทย พลังงานเพื่อใคร: เมืองไทยรวยน้ำมัน!

กว่า 90 ปีมาแล้ว สำหรับการขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย

หากนับจากการขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมแรกของประเทศ ที่ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์หลักคือการหาแหล่งเชื้อเพลิงการขับเคลื่อนรถไฟแทนการใช้ ฟืน ตามพระดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง

 

แม้ว่าการขุดเจาะในบริเวณที่มีน้ำมันดิบไหลซึมขึ้นมาบนผิวดิน จะไม่ประสบความสำเร็จด้วยเพราะเครื่องมือไม่ทันสมัย แต่กระนั้น การขุดเจาะ “บ่อหลวง” ถือเป็นการ “เปิดโลก” ว่าประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมอยู่จริง

แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตปิโตรเลียมได้ติดอันดับโลก!!!

จากข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ หรือ EIA ระบุว่า ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 392,850 บาร์เรลต่อวัน โดยกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก

ขณะที่ก๊าซธรรมชาตินั้น สามารถผลิตได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลก

โดยสถิติการรวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์ Index Mundi ได้แสดงกราฟการเพิ่มขึ้นทุกปีของอัตราการผลิตน้ำมันในประเทศไทย

สอดรับกับข้อมูลในรายงานประจำปี 2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่าการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งผลิตในประเทศในปี 2554 มีปริมาณรวม 251.5 ล้านบาร์เรล หากเทียบเท่ากับน้ำมันดิบถ้าคิดเฉลี่ยเท่ากับว่าประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้วันละ 687,243 บาร์เรล หรือ 103,086,450 ลิตรต่อวัน

โดยในจำนวนนี้มาจากการผลิตปิโตรเลียมใน 3 รูปแบบ คือ

1. การผลิตก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) มีปริมาณรวม 996,379 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 2,729.8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

2. การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) มีปริมาณรวม 30.709 ล้านบาร์เรล หรือ 27.933 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (เฉลี่ย 76,530 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน)

3. การผลิตน้ำมันดิบ (Crude Oil) ในปี 2554 มีปริมาณรวม 49.8 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 136,516 บาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ในรายงานประจำปียังระบุด้วยว่า จำนวนปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศนั้นลดลงจากการผลิตในปีที่ผ่านมาประมาณ 5.8 %

แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตน้ำมันรวมไปถึงก๊าซธรรมชาติได้จำนวนมาก แต่อัตราการใช้พลังงานของประเทศก็มากเช่นกัน

จากข้อมูลสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ได้จัดทำสถานการณ์ปิโตรเลียมในประเทศ โดยระบุว่าการจัดการปิโตรเลียมในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2554 นั้น มาจากการผลิตภายในประเทศร่วมกับการนำเข้าเป็นปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,792,900 บาร์เรล (เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน)

โดยในส่วนของการนำเข้านั้นคิดเป็น 56 % ของความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั้งหมด

ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้หน่วยงานด้านพลังงานภาครัฐต้องออกมาระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพปิโตรเลียมที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ล่าสุด กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ขึ้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคมที่มองว่า การให้สัมปทานรอบใหม่โดยที่ยังยึดสูตรการให้สัมปทานแบบ “ไทยแลนด์ทรี” จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบบริษัทสัมปทานปิโตรเลียมจากต่างประเทศ

จนกลายเป็นว่า พลังงานไทยไม่ได้เป็นของคนไทย !!!

ข้อมูลจาก ไทยพับลิก้า
วันที่ 26 ต.ค. 55

พิมพ์ อีเมล