น้ำมันแพง...เข้ากระเป๋าใคร?

ผมได้รับเชิญให้ร่วมเสวนาประชาชนเรื่อง “น้ำมันแพง...เข้ากระเป๋าใคร?” โดย สถาบันสหสวรรษ จึงถือโอกาสเอามาเป็นชื่อบทความเสียเลย

ในปี 2554 คนไทยใช้น้ำมันทุกชนิดรวมกันจำนวน 4.2 หมื่นล้านลิตร ดังนั้นถ้าน้ำมันแพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุมีผลอีกลิตรละหนึ่งบาท เงินในกระเป๋าของพวกเราก็จะถูกพวกฉ้อฉลล้วงไปถึง 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าการต้องสูญเสียเงินก็คือ การค้าน้ำมันเป็นกิจการที่รวมศูนย์และผูกขาดเกือบทั้งหมดตั้งแต่การขุดเจาะ การกลั่นและการตลาด ดัง นั้น เงินจำนวนก้อนใหญ่นี้ได้ถูกรวมอยู่ในกระเป๋าของคนที่ฉ้อฉลจำนวนไม่กี่ตระกูล และมีจำนวนมากพอสำหรับการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ฉ้อฉล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองได้อีกมากมายสุดจะพรรณนาและจินตนาการได้หมด ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาข้าวแกงแพงขึ้นถึงจานละ5-10บาท แม้จะเป็นเงินก้อนใหญ่และทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเช่นเดียวกันก็ตาม แต่เงินที่แม่ค้าได้รับจะไม่รวมศูนย์และไม่มีพลังมากพอที่จะก่อความเสียหาย ร้ายแรงต่อประเทศได้

เรื่องราคาน้ำมันจึงเป็นเรื่องสำคัญและใหญ่โตมาก บทความอันสั้นนี้นอกจากจะมุ่งตอบโจทย์ดังกล่าวแล้ว ยังจะเสนอแนวคิดถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน (ที่พ่อค้าพลังงานล้างสมองว่าเป็นของล้าสมัย) เพื่อลดภัยพิบัติที่เกิดจากปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาการว่างงานอีกด้วย



ตารางข้างล่างนี้แสดงถึงส่วนประกอบของราคาน้ำมันดีเซลเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 54 และ 21 ก.พ. 55 ผมเลือกสองวันนี้มาเสนอก็เพราะว่า หนึ่ง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกของสองวันนี้เท่ากันคือ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในขณะนั้นต่างกัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบต่างกัน (รายการที่ 1) และ สอง เป็นช่วงเวลาการบริหารของสองรัฐบาลคือ คุณอภิสิทธิ์ และคุณยิ่งลักษณ์

สำหรับรายการที่ 2 เป็นราคาหน้าโรงกลั่นหลังจากกลั่นเสร็จแล้วซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น เบนซิน ดีเซล ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น มูลค่าของผลิตภัณฑ์ทุกชนิดรวมกันลบด้วยมูลค่าของน้ำมันดิบ (ที่โรงกลั่น) เรียกว่า ค่าการกลั่น (refinery margin) ค่าการกลั่นเฉลี่ย (รายการที่ 7) หมายถึงค่าการกลั่นทั้งหมดในช่วงวันที่ กระทรวงพลังงานระบุ สำหรับรายการอื่นๆ มีคำอธิบายอยู่แล้วในตารางแล้ว

ค่าการตลาดในรายการที่ 6 คือ ส่วนต่างราคาที่บริษัทค้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อน้ำมันจากหน้าโรงกลั่นและ ปั๊มบริการได้รับ สำหรับค่าขนส่งที่เกิดขึ้นเป็นภาระผู้บริโภค จากการสอบถามเจ้าของปั๊มแห่งหนึ่งได้ความว่า เขาได้รับส่วนแบ่งประมาณ 0.60 - 0.65 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในปั๊มอยู่ที่เงินจำนวนนี้

คราวนี้ใครเชียร์หรือไม่พอใจรัฐบาลใดก็โปรดดูข้อมูลนะครับ รัฐบาลอภิสิทธิ์มีต้นทุนน้ำมันดิบสูงกว่า 1.27 บาท แต่ราคาหน้าปั๊มกลับต่ำกว่า 1.74 บาท ถ้าเราจะสรุปว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ดีกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ในเรื่องนี้) ก็ไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารตัวเลขในรายการภาษีกับกองทุนน้ำมัน เช่น นำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคา 5 บาท และมีการยืดหดภาษีจาก 2.08 ถึง 7.80 บาท

แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทั้งสอง (รวมทั้งรัฐบาลอื่นๆ ด้วย) ทำเหมือนกันก็คือ ไม่มีการกำกับควบคุมราคาที่หน้าโรงกลั่นซึ่งสูงกว่าราคาน้ำมันดิบถึง 4.08 บาท (13.6%ของราคาหน้าปั๊ม) และ 6.73 บาท (21.2%) เลย ใครที่คิดว่า “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” เป็น ผู้ควบคุมราคาน้ำมันเป็นการเข้าใจผิดครับ กิจการน้ำมันซึ่งมีขนาดโตกว่า 11% ของรายได้ประชาชาติโดยไม่มีองค์กรกำกับดูแล รัฐบาลก็ไม่ดูแล

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานระบุว่า ในปี 2554 รัฐบาลได้รับค่าภาคหลวงจากพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งผลิตในประเทศไทยจำนวน 5.16 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดย้อนกลับไปจากอัตราค่าภาคหลวง 12.5% จะได้ว่ามูลค่าปิโตรเลียมที่เจาะได้ในประเทศประมาณ 4.13 แสนล้านบาท อัตราค่าภาคหลวงที่รัฐบาลไทยเรียกเก็บนี้เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองอยู่ที่ 18% บางประเทศ 30-80%

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงกิจการน้ำมันในระดับโลก นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวในทำนองเดียวกัน (เช่น Les Leopold, Bart Chliton, Paul Hodges ค้นได้จากกูเกิล) รวมทั้งผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ExxonMobile (Rex Tillerson) ว่า ราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในตลาดโลกนั้น ประมาณ 15-40% เป็นผลมาจากการปั่นราคาในตลาด “Wall Street”

ในแต่ละวันชาวโลกใช้น้ำมันเพียงประมาณ 85 ล้านบาร์เรล แต่มีการซื้อขายกันในตลาดล่วงหน้าซึ่งเป็นการซื้อขายบนกระดาษมากถึงกว่า หนึ่งพันล้านบาร์เรล การซื้อขายแบบนี้ทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกบิดเบือนไปจากเดิม “การขึ้นลงของราคาน้ำมันดิบไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น/อุปทานที่ ลดลง หรือความต้องการของประเทศจีน แต่ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของ Wall Street”

นักวิเคราะห์บางคนได้เจาะลึกว่า “ทุกๆ ครั้งที่เจ้าของรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เติมน้ำมันเต็มถัง (50 ลิตร) เงินจำนวน $7.30 (226บาท) จะไปสู่กระเป๋าของนักเก็งกำไรในตลาด Wall Street”

นอกจากเรื่องเงินที่กล่าวแล้ว มีสิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากๆ ไม่แพ้กันก็คือ ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากและราคาถูกราวกับน้ำทะเล แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถใช้ได้มากกว่านี้ได้อีกแล้ว เพราะขีดจำกัดที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน ดังนั้นนอกจากการรู้เท่าทันพ่อค้าพลังงาน นักการเมือง ข้าราชการที่สมคบกันฉ้อฉลแล้ว เราต้องหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งนอกจากจะปลอดภัยจากภัยพิบัติแล้วยัง ช่วยกระจายรายได้ และสร้างงานจำนวนมากอีกด้วย


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 พฤษภาคม 2555
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

พิมพ์ อีเมล