เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมา ฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552
จุดมุ่งหมายในการออกประกาศฉบับนี้ของกรมธุรกิจพลังงาน เนื่องจากปัญหาก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น นั้นมีคุณสมบัติค่าความร้อนสูงต่ำแตกต่างกันโดยธรรมชาติ เมื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับรถยนต์จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์รถแตกต่างกันไปด้วย ทำให้ผู้ใช้รถรู้สึกว่าเติมเอ็นจีวีกับปั๊มบางจังหวัด บางแห่งแล้วรถวิ่งอืด แต่ไปเติมอีกที่หนึ่งรถกลับวิ่งดี
กรมธุรกิจพลังงาน จึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตร เพื่อให้ก๊าซเอ็นจีวีจากแต่ละแหล่งมีมาตรฐานเดียวกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี เครื่องยนต์รถก็ไม่มีปัญหา
สิ่งที่ผู้บริโภคไม่รู้
1.ขณะที่มาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีของบ้านเรายอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 18 ของเนื้อก๊าซทั้งหมด แต่มาตรฐานก๊าซธรรมชาติสากลที่ต่างประเทศใช้กันจะให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้เขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเอง
2. เมื่อมาตรฐานสากลมีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำทำให้ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนของก๊าซธรรมชาติจึงสูงกว่าบ้านเรา และส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์มากกว่า โดยมาตรฐานสากลกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 ส่วนมาตรฐานเอ็นจีวีที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ค่าดัชนีวอบบี้จะอยู่ระหว่าง 37-42 MJ/m3 เท่านั้น
3. ดังนั้น มาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดจึงเป็นมาตรฐานที่ต่ำ แต่เปิดโอกาสให้ ปตท. สามารถเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมในก๊าซเอ็นจีวีได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคัน การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ปตท. อย่างมาก เพราะเมื่อจ่ายเงินซื้อเอ็นจีวีไป 100 บาท จะได้เนื้อก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแค่ 82 บาท และจะขาดทุนไปกับก๊าซขยะอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ไม่ต้องการจำนวน 18 บาท
4. ผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวีจะเป็นตัวการทำให้โลกร้อนมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติเมื่อก๊าซเอ็นจีวีถูกเผาผลาญจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 20% ของเนื้อก๊าซทั้งหมดซึ่งถือว่าต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่นทุกชนิด แต่หากมีการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้อีก 18% ย่อมหมายความว่ารถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีจะมีส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30-35% ของปริมาณก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซล
5. ทุกวันนี้มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีกว่า 2 แสนคันในประเทศ และใช้ก๊าซเอ็นจีวีรวมกัน 1.45 ล้านตันต่อปี เมื่อมีการกำหนดให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 18% จึงเท่ากับว่ารถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึง 500,000 ตันต่อปี ขณะที่โครงการลดโลกร้อนเพื่อพ่อของกระทรวงพลังงานสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 200,000 ตันต่อปีเท่านั้น
6. ข้อห่วงใยที่สำคัญอีกเรื่องคือ หากปล่อยให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วนที่สูงมากอยู่ภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งทั้งกับรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคันมีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้
อ่านเรื่องนี้กันแล้ว เพื่อไม่ให้ให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายในฐานะประชาชนคนฉลาดซื้อคงต้องช่วยกันส่งเสียงดังๆ เพื่อให้กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว มิเช่นนั้น อาจต้องร่วมไม้ร่วมมือกันยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศฉบับนี้โดยเร็ว