ความรู้การใช้ยา

มาตรวจสอบยากันดีกว่า

ดิฉันมักจะได้รับคำถามซ้ำๆ จากผู้ป่วยหลายท่าน ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล แล้วรีบรับยากลับบ้านไป โดยไม่ได้ตั้งใจฟังคำแนะนำจากเภสัชกร หรือตรวจสอบยาที่ได้รับ พอมีปัญหาสงสัย ก็ต้องเสียเวลากลับมาโรงพยาบาล เพื่อรับคำปรึกษาเรื่องยาใหม่ บ้างก็โทรศัพท์มา ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อย ได้แก่

o ต้องกินยาที่ได้รับจนหมดหรือเปล่า
o ยาที่ได้กินร่วมกับยาเดิมที่กินอยู่แล้วได้หรือไม่
o ถ้าลืมกินยาแล้วทำอย่างไร
o ยาที่ได้รับมาหน้าตาคล้ายๆ ยาเดิมแล้วใช่ยาเดิมหรือเปล่า
o ยาหายไปตัวหนึ่งปกติได้รับประจำไม่ทราบหมอให้หยุดยาหรือเปล่า
o ยาที่ได้รับจำนวนไม่ครบตามวันนัด หมอต้องการให้หยุดยาก่อนวันนัดหรือเปล่า

คำถามเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของคำถามที่ดิฉันได้รับฟังอยู่เสมอ บางรายบ้านอยู่ไกลโรงพยาบาลมาก แต่ก็ยังต้องเสียค่ารถ กลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะมีปัญหาหรือมีคำถามสงสัย บางรายต้องเข้าไปพบแพทย์ผู้ดูแลอีกครั้ง เพราะสงสัยว่าได้รับยาไม่ครบหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าแพทย์ให้หยุดยาตัวนั้น หรือว่าลืมเขียนในใบสั่งยาให้

คุณคงไม่ปฏิเสธว่าในชีวิตหนึ่งว่า ต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล บางรายที่เป็นโรคเรื้อรังต้องไปโรงพยาบาลประจำ ดังนั้นหากเสียเวลาตรวจสอบยาของคุณสักนิด ก่อนรับยากลับบ้าน คุณก็จะมิต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลอีก หรือไม่ต้องโทรศัพท์มาสอบถามอีกให้ยุ่งยาก ยาไม่ใช่ขนมที่กินอย่างไรก็ได้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ ยาบางตัวมีวิธีใช้พิเศษ ยาบางตัวห้ามกินกับอาหารบางประเภท ยาบางตัวต้องกินทุกวันจนยาหมด ยาบางตัวใช้เพียงระยะหนึ่ง เมื่ออาการดีขึ้น ก็สามารถหยุดใช้ได้ ดิฉันจึงอยากจะฝากประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณผู้อ่านนำไปใช้หากต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล

ข้อมูลที่ควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน


ชื่อยา ควรเป็นชื่อตัวยาจริงๆ (generic name) ไม่ใช่ชื่อทางการค้า (trade name) เพราะถ้าหากเป็นชื่อทางการค้าคุณอาจไม่ทราบว่ายานั้นซ้ำซ้อนกับยาที่ใช้อยู่ เดิมหรือไม่ หากใช้ยาซ้ำซ้อนคุณก็อาจได้รับพิษจากยานั้น และถ้ายานั้นมีความเป็นพิษสูงมากก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ประโยชน์ทางการรักษา ยาใช้รักษาอะไร มีประโยชน์อย่างไร
จำนวนยาที่ ได้ครบตามกำหนดวันนัดครั้งต่อไปหรือไม่ เนื่องจากยาบางตัว หากคุณได้รับไม่ครบหรือขาดยาไป จะทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง อันได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงโรคหัวใจ
วิธีการรับประทานยา ครั้งละกี่เม็ด วันละกี่ครั้ง ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาไหม กินก่อนหรือหลังอาหาร มีวิธีใช้ยาพิเศษอะไรหรือไม่
หากลืมกินยาจะทำอย่างไร เนื่องจากยาบางตัว เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถกินเพิ่มเป็น 2 เท่าได้ในมื้อต่อไป ยาบางตัว เช่น ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาที่มีช่วงการรักษาแคบมีพิษสูง ห้ามกินเพิ่มเป็น 2 เท่าเด็ดขาด ให้ข้ามมื้อที่ลืมไปเลย คุณจึงควรสอบถามให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาเป็นประจำ การหลงลืมย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
จำเป็นต้องรับประทานยานี้จนหมดหรือไม่ จะหยุดยาได้เมื่อไหร่ หรือต้องใช้ต่อเนื่องจนกว่ายาจะหมด
ยาหมดอายุเมื่อไหร่ ยาจะหมดอายุก่อนใช้หมดหรือไม่ หรือจะมีอายุหลังจากเปิดภาชนะบรรจุยาได้นานแค่ไหน
วิธีการเก็บรักษายา ต้องเก็บในตู้เย็นหรือไม่
ยานี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว … ได้หรือไม่ จะทำให้ผลการรักษาโรคนั้นๆ แย่ลงหรือไม่
ยาที่ได้รับจะมีผลกับยาอื่นๆ ที่รับประทานเป็นประจำอยู่แล้วหรือไม่ รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่มต่างๆทั้งที่มี และไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
ยามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง อาการข้างเคียง คือ อาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดเมื่อใช้ยาในขนาดที่ใช้ในการรักษา
โดยไม่ได้รับประทานเกินขนาด หรือเป็นผลที่เกิดจากการรับประทานยาร่วมกับยาตัวอื่น เช่น อาการง่วงซึมจากการกินยาลดน้ำมูก ซึ่งคุณอาจต้องสังเกต ในขณะที่ใช้ยาตัวนั้นๆ ซึ่งหากเป็นมาก อาจต้องกลับมาแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อทำการปรับลดขนาดยาลง หรือหยุดยา
เคยมีประวัติ แพ้ยา … ใช่ยาตัวนี้ได้หรือไม่ ประวัติแพ้ยานั้น มีความสำคัญมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ยาตัวนั้นๆ ไม่เหมือนกับผลข้างเคียงจากยา ที่สามารถเกิดได้กับทุกคน คุณต้องแจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งที่รับยา เพราะการแพ้ยาหากเป็นรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การปรับวิธี ใช้ยา ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ในกรณีที่มีกิจวัตรประจำวัน วิธีการดำเนินชีวิตที่ผิดจากคนทั่วไป เช่น รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ ทำงานเป็นกะ ควรปรึกษาเภสัชกรว่า ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีใช้ยาอย่างไร ให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของคุณ

อย่าเพิ่งท้อแท้ไปนะคะว่า จะจำไม่ได้กับรายละเอียดมากมาย เพียงจำได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการใช้ยา ข้อบ่งใช้ของยา ระยะเวลาในการใช้ยา จำนวนยาที่ได้รับ และการแจ้งประวัติแพ้ยา เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วหละค่ะ ที่จะทำให้คุณได้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ต้องเสียเวลา กลับมาสอบถามที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

ข้อมูลที่ท่านควรทราบเมื่อต้องการไปซื้อยาที่ร้านขายยา

เช่นเดียวกับการไปรับยาที่โรงพยาบาลหละค่ะ สำหรับผู้ที่ใช้ยาประจำ รู้จักหน้าตาของยาที่จะไปซื้อดีอยู่แล้ว ก็คงไม่มีปัญหาอะไร จะต่างกันก็ตรงกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยแล้ว ไปให้ที่ร้านยาจัดให้ คุณควรปฏิบัติดังนี้

หากเลือกได้ ควรเลือกร้านที่มีเภสัชกรประจำร้าน และพยายามปรึกษาเภสัชกรประจำร้านให้เต็มที่ ด้วยการสอบถามรายละเอียดของยาที่กำลังต้องการใช้ หรืออาการเจ็บป่วยที่กำลังเป็นอยู่ทุกแง่มุม ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ “ ข้อมูลที่ท่านควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน ”
คุณควรไปซื้อ ยาเอง ไม่ควรฝากคนอื่นๆ ไปซื้อให้ เพราะคงไม่มีใครทราบอาการของคุณดีเท่ากับตัวเอง นอกจากเป็นยาที่คุณใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทราบชื่อยาและวิธีใช้ดีอยู่แล้ว

ลองนำไปปฏิบัติกันดูนะคะเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดปี ตลอดไป

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday

พิมพ์ อีเมล