ข่าว/บทความรถโดยสาร

เหยื่อ...บนท้องถนน

581117 VICTIMSjpg

องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็น "วันเหยื่อโลก" (WORLD VICTIMS DAY) เพื่อระลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


จากสถานการณ์ความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ในปี 2015 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย หรือมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วย อันดับ 2 คือ เวียดนาม อยู่ที่ 24.5 คน และอันดับ 3 คือ มาเลเซียอยู่ที่ 24 คน


ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยจะมีอุบัติเหตุทางถนนในรถทุกประเภท เฉลี่ยมากกว่า ๒,๐๐๐ ครั้งต่อปี มีผู้บาดเจ็บทางถนนมากกว่า 150,000 คน และตายกว่า 14,000 คน ต่อปี หรือเฉลี่ยตาย 38 คน ต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคลากรทางสังคม และความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติที่รวมกันมากกว่าปีละ 150,000 ล้าน ซึ่งจากตัวเลขและความสุญเสียดังกล่าว จึงเป็นสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ความทุกข์ของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
ปัญหาความทุกข์ของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เป็นหนึ่งในเหยื่อจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปัญหาใหญ่ที่พบก็คือผู้ประสบเหตุยังไม่ได้รับการเยียวยาและชดเชยเบื้องต้นทันทีโดยไม่จำเป็นต้องร่วมในการพิสูจน์ถูกผิด การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย และผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการขาดคำแนะนำในกรณีที่เป็นคดีความฟ้องร้องในชั้นศาล และประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการพิจารณา คือ การชดเชยเยียวยายังไม่มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ค่าสินไหมทดแทนการขาดรายได้ และค่าชดเชยอื่นๆด้วย  การร่วมหาแนวทางและยกระดับไปสู่ระดับนโยบาย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจึงเป็นส่วนสำคัญมาก


ในเวทีสภาผู้บริโภค “ความทุกข์และข้อเสนอจากเหยื่อรถโดยสารสาธารณะ” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้บริโภค ๖ ภูมิภาค ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.58 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพมีผู้เสียหายร่วมสะท้อนปัญหา

นายสมบูรณ์ วงศ์ษา หนึ่งในผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารเปรมประชาขนส่ง พลิกคว่ำเกือบตกเหวที่อำเภอฮอด เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาสูญเสียภรรยาในเหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้โดยสารคนอื่นบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรถทัวร์คันดังกล่าวไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจ และยังอยู่ระหว่างการถูกฟ้องล้มละลาย ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ก็ยังได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้วิ่งรถได้


“ตอนเกิดเหตุแล้วบริษัทก็ไมได้พยายามที่จะมาเจรจาเพื่อจ่ายค่าเสียหาย ให้กับพวกเราเลย กลับต่อรองจ่ายเงินให้กับเราเหมือนเรามาขอเงินเขา จนสุดท้ายพวกเราต้องฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้สืบพยานเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างรอศาลพิพากษา... พวกเราบอกได้เลยว่า เราไม่มีทางเลือก เส้นทางนี้มีแต่รถบริษัทเปรมประชาขนส่งเพียงรายเดียว รถเก่าแค่ไหนเราก็ต้องขึ้น เราต้องเดินทาง พวกเราต้องเสี่ยงชีวิตทุกวัน” นายสมบูรณ์กล่าว

วงเงินความคุ้มครองค่าเสียหายยังน้อยเกินไป
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ฉายภายสถานการณ์การเยียวยาผู้ประสบเหตุว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัยภาคบังคับ) ค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตไม่เกิน 200,000 บาท ยังเป็นจำนวนเงินที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีที่บาดเจ็บร้ายแรงหรือเสียชีวิต


“ทางออกในกรณีนี้คือ การเพิ่มวงเงินความคุ้มครองค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาลตามจริงเป็นเงินไม่เกิน 150.000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตเป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยต้องแยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพ ออกจากค่ารักษาพยาบาล รวมถึงปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองประกันภัยภาคสมัครใจสำหรับอุบัติเหตุ สำหรับรถโดยสารสาธารณะกำหนดไว้ที่ 10 ล้านบาท ต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง เนื่องจากพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่มีผู้ประสบเหตุบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก วงเงิน 10 ล้านบาท จะไม่เพียงพอกับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งระบบประกันภัยอุบัติเหตุในปัจจุบันควรต้องได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องและ ครอบคลุมสิทธิของผู้ประสบเหตุอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ” ดร.สุเมธ กล่าว


รถโดยสารคุณภาพช่วยลดอุบัติเหตุ
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน มีข้อกังวลนั่นก็คือการนำรถโดยสารสาธารณะมาให้บริการ หากเป็นรถโดยสารที่ไม่มีคุณภาพ สภาพชำรุดบกพร่อง คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง หรือมีคนขับเพียงคนเดียว ก็จะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ และความรุนแรงได้


“เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกครั้งเกิดจากปัญหาของโครงสร้างรถไม่ได้ มาตรฐานเวลาเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความเสียหายรุนแรงต่อผู้โดยสาร ความเสี่ยงในเรื่องของการเลือกใช้เส้นทางไม่เหมาะสมและโดยเฉพาะความเสี่ยง จากพนักงานขับรถ เช่น ขับรถด้วยความเร็ว ไม่ชำนาญทาง หลับใน เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีการแก้ไขจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย มีระบบประเมินและตรวจสอบผู้ประกอบการเดินรถ การติดตั้งระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท รวมทั้งมีมาตรการให้บริษัทที่เกิดเหตุบ่อยๆ มีการปรับปรุงแผนด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนต่อสาธารณะอย่างจริงจัง และถ้าพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ควรหยุดปรับปรุงและมีการนำรถที่ปลอดภัยมาให้บริการทดแทน” นายแพทย์ กล่าว


ความปลอดภัยบนท้องถนน หากหน่วยงานรัฐกำกับดูแลและพัฒนาระบบความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งการตรวจสภาพรถโดยสาร การพัฒนาคุณภาพคนขับรถ การชดเชยเยียวยา โดยร่วมกับผู้ประกอบการ ไม่นานความฝันถึงความปลอดภัยบนท้องถนนคงใกล้จะเป็นจริง

พิมพ์ อีเมล