“เขาบอกว่าแฟนแอบขึ้นรถโดยสารมาเอง จากท่าขึ้นรถดอยติ ทั้งที่แฟนพี่ตัวโต เดินไกลๆใครก็เห็น”
นางสุนี อนุพงศ์วรางกูล วัย 46 ปี ภรรยาของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเหยื่อจากรถโดยสารสองชั้นของบริษัท อินทราทัวร์ ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำข้างทาง บริเวณ จ.อ่างทอง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เอ่ยถึงคำที่บริษัทกล่าวอ้างเพื่อประวิงเวลา
สามีของเธอขึ้นรถโดยสารคันดังกล่าวจากท่ารถดอยติ จ.ลำปาง ซึ่งเขาเดินทางขึ้นลงกรุงเทพ – ลำปางเป็นประจำ แต่ครั้งนี้เขาไปแล้วไม่ได้กลับไปหาเธออีกเลย การจากไปของเขานำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ในชีวิตของสุนี ที่ต้องแบกรับภาระลูกๆ วัยเรียนทั้ง 3 คน ไล่จาก 15 ปี 14 ปี และ 10 ปี
“เงินประกันที่ได้จากสามีราวๆ 1 ล้าน ใช้เลี้ยงดูลูกและเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆในบ้าน ตอนนี้ต้องนับหนึ่งชีวิตใหม่ ก่อนหน้านั้นเราเป็นแม่บ้าน คอยดูแลลูกๆ มีสามีคอยดูแลทุกอย่าง เราทำธุรกิจบ่อปลาก็พออยู่พอกิน ลูกๆได้เรียนพิเศษอย่างที่ตัวเองอยากเรียน แต่ครั้นไม่มีเขาทุกอย่างกับกลับตาลปัตร เราต้องเริ่มทำงาน ตอนนี้ไปเรียนฝึกอาชีพทำขนม เรียนอื่นๆ เพื่อหาที่ตัวเองถนัดที่พอจะเลี้ยงลูกๆได้ ส่วนลูกๆ ต้องหยุดเรียนพิเศษอื่นๆ ทั้งดนตรี เทควันโด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”
ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่สุนีเจอก็คือการเดินเรื่องต่างๆ ในการเรียกร้องสิทธิ์ค่อนข้างยากเพราะเธอเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสามี การเดินเรื่องต่างๆจึงซับซ้อน เพราะต้องทำเอกสารมอบอำนาจจากทางครอบครัวสามีของเธอก่อน ซึ่งการขอเอกสารต่างๆต้องใช้เอกสารการมอบอำนาจ การชดเชยเยียวยาต่างๆ จึงต้องใช้เวลาในการส่งเอกสารกลับไปมา พอๆกับความล่าช้าการเยียวของบริษัท
“เคสของเราเป็นตัวอย่างของคนทั้งหมู่บ้านเลยว่าแต่งงานก็ให้จดทะเบียนไปเถอะ หากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้เดินเรื่องตามกฎหมายได้ทันที แล้วเอกสารต้องกลับไปกลับมา ยกตัวอย่างการยื่นเรื่องเพื่อเจรจาค่าสินไหมให้กับ บขส. เราก็ต้องทำเรื่องให้ทางครอบครัวสามีมอบอำนาจให้ก่อน แล้วเราถึงจะใช้ใบมอบอำนาจไปยื่นเรื่องขอเอกสารกับทางโรงพยาบาล มันซับซ้อนมาก”
หลังการพิทักษ์สิทธิของตัวเอง เธอได้รับเยียวยาทั้งจากการชดเชยเยียวยาเบื้องต้น 35,000 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) และจากบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานเส้นทางของรถร่วมบริการ อีกเงิน 1 ล้านบาท
“เราต้องลุยทุกอย่างทั้งที่เชียงใหม่ ลำปาง และเข้ามาร้องเรียนที่ กทม.ตอนมายื่นเรื่องกับ คปภ.อยากให้มีกระบวนการเยียวยารวดเร็วขึ้น และอยากให้มีหน่วยงานเข้ามาให้คำแนะนำกับผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้เผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าคนที่เรียกร้องได้ แต่คนที่ไม่ลุกขึ้นสู้ก็ไม่ได้อะไรเลย อยากให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง อย่าปล่อยให้เงียบและยอมตามที่บริษัทเสนอมา เพราะในฐานะของผู้บริโภคเราต้องใช้สิทธิ์ สิ่งที่ต้องเตรียมที่สำคัญก็คือใจของตัวเอง และหลักฐานต่างๆ เช่นใบเสร็จและหลักฐานต่างๆ ที่ต้องใช้ในการเรียกร้องค่าเสียหาย อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์” นางสาวสุนีกล่าว