จากมาตรการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่าน ในการแก้ปัญหารถจักรยานยนต์วิ่ง หรือจอดบนทางเท้า โดยให้ประชาชนส่งหลักฐานภาพถ่ายหรือคลิปวีดีโอถ่ายภาพรถจักรยานยนต์ที่ขับ หรือจอดบนทางเท้า ส่งเจ้าหน้าที่ได้ค่าปรับ 50 %
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำมาตรการดังกล่าวมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่าน Page มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 19 – 20 เม.ย. 60 โดยตั้งประเด็นว่า “เห็นด้วยหรือไม่ จอดรถหรือขับขี่รถบนทางเท้าคนแจ้งจับได้ส่วนแบ่งค่าปรับ 50% มาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยบนทางเท้าได้” ผลการสำรวจพบ เห็นด้วย 187 คน ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย 26 คน กดLike 111 คน ความเห็น 48 comments จากผู้เข้าร่วม 255 คน
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นต่อมาตรการส่วนแบ่งค่าปรับ 50% ซึ่งผลการสำรวจว่าสนับสนุนกับมาตรการนี้ ถือเป็นมาตรการเชิงรุกที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังความปลอดภัยบนทางเท้า เพื่อการลดอุบัติเหตุทางถนน
นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคมใช้มาตรการนี้กับบริการขนส่งสาธารณะเพิ่มเติมด้วย ตามที่เครือข่ายผู้บริโภค ได้เข้ายื่นข้อเสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้สิทธิบริการรถโดยสารสาธารณะ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 13 มกราคม 60 โดยให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนผู้ทำความผิดทั้งขับรถเร็ว พบรถผี หรือรถไม่มีเข็มขัดนิรภัย โดยแบ่งจากค่าปรับให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง
“ข้อเสนอนี้ถือเป็นมาตรการที่สนับสนุนกลไกการเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัยภาคประชาชนในยุคดิจิตอลที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายรูปติดตัวกันอยู่แล้ว ในการร่วมแจ้งเบาะแส ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ๆที่มีจำนวนน้อย ที่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อป้องปรามการประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แม้จะมีมาตรการที่เด็ดขาดด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคในหลายๆเรื่อง แต่การมีกลไกภาคประชาชนก็สำคัญ” นายคงศักดิ์กล่าว