รายงานจากสำนักข่าวอิศราระบุว่าเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ (58 ปี) ที่วิศวกรวอลโว่ Nils Bohlin เริ่มนำเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุดมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1959 และประมาณกันว่าช่วยป้องกันความสูญเสียชีวิตของคนทั่วโลกไปกว่า 1 ล้านคน
บ้านเรา พรบ.จราจรทางบก 2522 ได้มีการประกาศและบังคับใช้ให้ติดตั้งและคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 หรือกว่า 22 ปีก่อน แม้จะมีแรงต้านในระยะแรก แต่ก็ได้รับความร่วมมือจนถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำนวนของผู้ใช้รถยนต์ ข้อมูลสำรวจล่าสุด (2557) โดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบอัตราการคาดเข็มขัดตอนหน้า เฉลี่ย 2 ใน 3 หรือร้อยละ 60 กว่าๆ แม้จะยังไม่ 100% แต่ถึงกระนั้น ก็พบว่ามีผู้ขับรถยนต์และผู้โดยสารจำนวนมากมาย ที่รอดตายเพราะคาดเข็มขัดนิรภัย (เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึง 34-40 % เทียบกับการไม่คาดเข็มขัด)
คาดเข็มขัดนิรภัย เฉพาะตอนหน้าก็น่าจะพอไหม ?
ผู้โดยสารตอนหลัง จะมีความเชื่ออยู่แล้วว่า .. นั่งหลังไม่ได้ถูกแรงปะทะเมื่อมีการชนเหมือนกับคนที่นั่งตอนหน้า แถมยังมีเบาะไว้คอยกั้นอีกด้วย ถ้าเป็นแท๊กซี่ก็นั่งไม่นานเดี๋ยวก็ลงแล้ว ในส่วนรถปิกอัพ ที่ปกติจะจดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคลสองที่นั่ง ก็มีเข็มขัดเฉพาะตอนหน้า (ไม่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับ space cap) แต่ในชีวิตจริงจะมีผู้โดยสารนั่งใน space cap อยู่จนเป็นปกติ ประกอบกับการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ทั้งรถตู้โดยสารและแท๊กซี่ เข็มขัดผู้โดยสารตอนหลัง จะถูกพับเก็บไว้หรือไม่ก็ซุกอยู่ใต้เบาะ ทำให้ยุ่งยากในการนำมาใช้ โดยเฉพาะการขึ้นลงในระยะทางสั้นๆ
ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลให้ ม.44 ที่ประกาศบังคับใช้ในครั้งนี้ ทำให้เกิดแรงต้านพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มรถสาธารณะอย่างกรณีแท๊กซี่และปิกอัพ
จากความเชื่อว่านั่งหลังปลอดภัยแม้ไม่ต้องคาดเข็มขัด .. ในความเป็นจริง รถที่วิ่งด้วยความเร็ว 60 กม/ชม. จะทำให้ทุกคนบนรถพุ่งไปข้างหน้าและเมื่อมีการปะทะคนหรือวัตถุในตัวรถ แรงปะทะจะเทียบเท่ากับการ “ตกตึก 5 ชั้น” ส่งผลให้คนที่ไม่คาดเข็มขัด ทะลุกระจกออกมาได้เลย หรือไม่ก็ชนเก้าอี้หรือคนตอนหน้าให้ได้รับบาดเจ็บไปด้วย
เพื่อนบ้านอย่าง “มาเลเชีย” ก็มีการบังคับใช้เข็มขัดตอนหลังเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ที่น่าสนใจคือ ผลประเมินจาก MIROS (Malaysia Institute of Road Safety) พบว่าสามารถช่วยลดการตายของผู้โดยสารตอนหลังได้ถึง 70%
เมื่อปีกว่าๆ เรื่องเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารตอนหลัง ถูกพูดถึงกันมากในอเมริกา จากการสูญเสีย John Nash เจ้าของรางวัลโนเบิลไพรส์ ที่จบชีวิตบนรถแท๊กซี่เพราะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยสื่อมวลชนและประชาชนหันมารณรงค์ให้เพิ่มการเข้มงวดและใช้เข็มขัดนิรภัยกับผู้โดยสารตอนหลัง เพราะมีข้อมูลที่ระบุว่าผู้โดยสารที่เสียชีวิตมีถึง 55% ที่ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย นอกจากนี้ยังมีถึง 22 รัฐที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับใช้การคาดเข็มขัดนิรภัยในรถแท๊กซี่
บ้านเราแม้ยังไม่มีข้อมูลที่แยกผู้ที่นั่งตอนหน้าและตอนท้าย แต่ในช่วงเทศกาล (ปีใหม่-สงกรานต์) ที่ผ่านๆ มาจะพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากรถส่วนบุคคล จะมีสัดส่วนที่ใช้เข็มขัดนิรภัยเพียง 1 ใน 4 แสดงว่าส่วนใหญ่ (3 ใน 4 หรือร้อยละ 75) ของผู้เสียชีวิตไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
มีเด็กเดินทางด้วยทำอย่างไร ?
เด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปี ผู้ปกครองควรให้นั่งในตอนหลังจะลดความเสี่ยงมากกว่านั่งตอนหน้าได้ถึง 5 เท่า และเพื่อความปลอดภัย เด็กอายุน้อยกว่า 9 ขวบ (หรือสูงน้อยกว่า 140 cm.) ก็ควรให้เด็กใช้ที่นั่งเด็ก (car seat) ตามช่วงวัย เพราะการใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์คาดให้เด็กที่ตัวเล็ก เมื่อเกิดการชนสายเข็มขัดด้านล่างจะรัดบริเวณท้องน้อยทำให้อวัยวะภายในบาดเจ็บและสายรัดตอนบนจะรัดที่คอของเด็ก
กรณีเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี ที่นั่งเด็กก็ควรหันไปในทิศทางที่เด็กจะหันหน้าไปหลังรถ (กลับด้านกับคนนั่งปกติ) เพราะถ้านั่งหันไปด้านหน้า เมื่อเกิดการชนจะมีการบาดเจ็บกระดูกต้นคอและกระดูกสันหลัง
จะบังคับใช้อย่างไร จึงจะได้รับความร่วมมือ
จากความเคยชินของผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่นั่งตอนหลังโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จำเป็นต้องวางแนวทางในการบังคับใช้ โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
(1) มีการให้ข้อมูลความปลอดภัยที่จะได้รับจากการคาดเข็มขัดนิรภัยที่นั่งตอนหลัง โดยเฉพาะข้อมูลจากผู้โดยสารที่มีประสบการณ์รอดตายหรือไม่บาดเจ็บรุนแรงจากการคาดเข็มขัด มาร่วมสื่อสารรณรงค์ รวมทั้ง นำเรื่องความสำคัญของเข็มขัดนิรภัย บรรจุไว้ในเนื้อหาของการอบรมใบขับขี่
(2) ส่งเสริมให้รถติดตั้งหรือจัดเตรียมอุปกรณ์ในการใช้ให้มีความสะดวก เช่น รถแท๊กซี่ ควรนำหัวเข็มขัด (buckle) ที่มักจะอยู่ใต้เบาะออกมาให้พร้อมใช้ หรือกรณีรถตู้โดยสาร ก็ควร
(3) กรมการขนส่งทางบก มีข้อกำหนด “ตรวจความพร้อมเข็มขัดทุกที่นั่ง” เมื่อนำรถมาตรวจสภาพรถ ทั้งกรณีรถโดยสารประจำทางหรือรถยนต์ที่มาต่อทะเบียน
(4) ตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ควรเน้นบังคับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นการเตือนและให้ข้อมูลความปลอดภัย ก่อนจะจับปรับจริง
แม้เข็มขัดนิรภัยที่นั่งตอนหลัง จะถูกนำมาใช้โดยผ่านกฎหมาย ม.44 ไม่ได้ตามขั้นตอนทั่วไป แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกพิสูจน์ยืนยันว่าช่วยสร้างความปลอดภัยมาทั่วโลกและเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเช๊ย ก็นำมาใช้จนลดการตายผู้โดยสารตอนหลังได้อย่างเห็นผล โอกาสนี้ จึงควรจะมองว่าระเบียบข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดความสูญเสียที่บ้านเราอยู่เป็นอันดับ 2 ของโลก ณ ตอนนี้
ข้อมูล ภาพ จากสำนักข่าวอิศรา