ข่าว/บทความรถโดยสาร

มาตรฐานแท็กซี่ไทย?

ก็ถือเป็นเรื่องดี ที่กระทรวงคมนาคมจะมีการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง จากที่ผ่านมาจะเห็นข่าวการก่ออาชญากรรมของโจรในคราบของคนขับแท็กซี่มากมาย หลายคดี มีทั้งปล้น จี้ ข่มขืน ทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิต สิ่งเหล่านี้มักจะเห็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เหมือนจะมีการปรามแค่ช่วงเวลาแรกๆ เมื่อเวลาผ่านไป การปรามการสกัดกั้นแท็กซี่เถื่อนก็หายไป ทำให้โจรที่มาหาผลประโยชน์ในคราบคนขับแท็กซี่มีมากขึ้น

จากข้อมูล ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแท็กซี่ในระบบ 100,000 คัน แต่วิ่งให้บริการจริง 80,000 คัน และจากข้อมูลการจดทะเบียนรถแท็กซี่ ณ วันที่ 31 มกราคม 2555 พบว่า มีจำนวนรถแท็กซี่ทั้งสิ้น จำนวน 99,375 คัน เป็นรถแท็กซี่ส่วนบุคคล จำนวน 23,757 คัน และรถแท็กซี่นิติบุคคล จำนวน 75,618 คัน และจากสถิติจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 พบว่า มีรถตู้โดยสารประจำทาง จำนวน 13,686 คัน รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 7,104 คัน
ก่อนหน้านี้ นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยถึงการเตรียมแผนที่จะหาแนวทางในการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ที่ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1 แสนคัน โดยปัจจุบันพบว่า การจดทะเบียนรถแท็กซี่นั้นเป็นแบบเสรี ซึ่งในอนาคตอาจมีการควบคุมการจดทะเบียน เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนและคุณภาพของรถแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการประชาชน
โดยกระทรวงคมนาคมจะเข้าดำเนินการตรวจสอบกฎระเบียบต่างๆ ในการจดทะเบียนรถแท็กซี่ ที่พบว่าในปัจจุบันมีความหละหลวม และพบว่ามีคนต่างด้าวเข้ามาขับรถแท็กซี่ด้วย จึงต้องมีการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และแก้ไขกฎระเบียบให้มีความรัดกุมมากขึ้น

ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานกรมขนส่งทางบก ที่มีหน้าที่โดยในการควบคุมดูแลรถแท็กซี่ทั้งระบบ ยืนยันว่า การควบคุมหรือคุมกำเนิดแท็กซี่ เป็นเรื่องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาอย่างเร่งด่วน หากมีจำนวนรถแท็กซี่ที่เหมาะสมกับความต้องการ คือ ถ้ามีน้อยลงกว่าปัจจุบัน ก็เชื่อว่าจะทำให้รถแท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องมีการหารือในรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมขนส่งทางบก ไปศึกษาแนวทางเพื่อจำกัดจำนวนรถแท็กซี่ไม่ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพพนักงานขับรถให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

และอีกประเด็นที่น่าจับตาอีกเรื่องที่เกี่ยวกับแท็กซี่ คือ ปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ เนื่องจากได้รับผลลกระทบจากราคาน้ำมัน จากกรณีที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมีมติให้ปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และซีเอ็นจี ขณะที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ได้มีการเรียกร้องขอปรับอัตราค่าโดยสาร ให้สูงขึ้น

โดยล่าสุดที่มีการปรับอัตราค่าโดยสารตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โดยปรับอัตราค่าโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึง 12 เดิมกิโลเมตรละ 4.50 บาท ปรับเป็น 5 บาท, จากกิโลเมตรที่ 12 ขึ้นไปถึง 20 เดิมกิโลเมตรละ 5 บาท ปรับเป็น 5.50 บาท, จากกิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไป เดิมกิโลเมตรละ 5.50 บาท ปรับเป็นกิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไปถึง 40 กิโลเมตรละ 6 บาท, จากกิโลเมตรที่ 40 ขึ้นไปถึง 60 กิโลเมตรละ 6.50 บาท, จากกิโลเมตรที่ 60 ขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตรละ 7.50 บาท และ จากกิโลเมตรที่ 80 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 8.50 บาท

ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก ออกมาระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบในการปรับอัตราค่าโดยสาร เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อให้ประชาชนยังคงนิยมใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ ขณะที่ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มิเตอร์ก็ต้องสามารถให้บริการได้ต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่า ในเดือนเมษายนนี้ จะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์แน่นอน แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจี และซีเอ็นจี เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีมาตรการช่วยเหลือถึงเดือนเมษายน ดังนั้น หากจะมีการพิจารณาจะเป็นในเดือนพฤษภาคม โดยจะต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนจึงจะตัดสินใจได้ว่าจะ ให้ปรับขึ้นได้หรือไม่

ทั้งนี้ ทั้งนั้น จากเสียงสะท้อนของประชาชนที่ใช้บริการ ก็ฝากมาบอกว่า หากจะมีการปรับขึ้นราคาจริง ก็ขอให้ปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการด้วยนะคะ.

16 มีนาคม 2555 - 00:00 ไทยโพสต์

พิมพ์ อีเมล