ข่าว/บทความรถโดยสาร

รถตู้โดยสาร 18 ที่นั่ง กับความปลอดภัยของผู้โดยสารที่กระทรวงคมนาคมต้องทบทวน

กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถตู้โดยสาร เป็นรถประเภทมาตรฐาน คือ รถปรับอากาศมาตรฐาน 2 (ชั้น 2) ขนาดกลาง มีระวางที่นั่งระหว่าง 10-11 ที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551สำหรับจำนวนที่นั่งผู้โดยสารมีทั้ง 14 ที่นั่ง และ 15 ที่นั่ง โดยมีการควบคุมจำนวนที่นั่งให้เป็นไปตามสภาพของรถตู้โดยสารที่จดทะเบียน พิจารณาจากรุ่นการผลิตของรถตู้โดยสาร น้ำหนักรวมหลังจากจากติดตั้งเบาะโดยสารและถังเชื้อเพลิงในตัวรถแล้ว สำหรับน้ำหนักรวมสุทธิของรถตู้โดยสารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อบรรทุกผู้โดยสารคือ ต้องไม่เกิน  3,500 กิโลกรัม นอกจากนี้ระยะของเบาะที่นั่งจะต้องไม่น้อยกว่า 67 เซนติเมตร

 

โดยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 จนถึงเดือนมีนาคม 2555 พบว่ามีจำนวนกว่า 18,000 คัน (สถิติการจดทะเบียนรถตู้โดยสารสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบก) แบ่งออกเป็นรถตู้โดยสารที่กำกับดูแลโดย บริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) รวมทั้งรถตู้โดยสารส่วนบุคคล รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง ซึ่งปัจจุบันปริมาณของรถตู้โดยสารมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ และแนวโน้มการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของผู้บริโภคก็กลายเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ นอกเหนือไปจากรถโดยสารชนิดอื่นๆเช่น รถโดยสารปรับอากาศ รถสองแถว รถเมล์ เป็นต้น

 

หากจะพิจารณาอุบัติเหตุที่มีรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2555 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม รถตู้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งหมด 56 ครั้ง ปี 2554 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,253 ครั้ง  และปีพ.ศ. 2553 จำนวน 1,549 ครั้ง (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย) มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่พบว่ามาจากคน รถ และถนน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่นๆแต่ปัจจัยหลักพบว่าเป็นสองอันดับแรก

1)
คน - พฤติกรรมการขับขี่ ที่ไม่เคารพกฎจราจรหรือการตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้โดยสาร เช่น การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถควบคุมรถได้เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่นั่ง หลับใน

2)
รถ - สภาพของรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานสูง มีการดัดแปลงด้วยการเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารและติดตั้งระบบแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงจากตัวรถตู้แบบเดิมซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อการควบคุมรถ การบังคับเลี้ยวจนเกิดเหตุการณ์ หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถลเป็นต้น รวมถึงการไม่ติดตั้งอุปกรณ์ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุต่อผู้โดยสาร หรืออุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานได้จริง อาทิ เข็มขัดนิรภัย

ผลกระทบโดยตรงที่พบว่าเกิดปัญหาคือ รถตู้ที่ผ่านการดัดแปลง ปริมาณน้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักของรถที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถเปรียบเทียบน้ำหนักของรถตู้โดยสารโครงสร้างเดิมจะพบว่า รถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงมีจะน้ำหนักของรถรวมถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทที่ไม่ได้ดัดแปลงประมาณ 400 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักของถังเชื้อเพลิง และเบาะที่นั่ง)

 

นอกเหนือจากนี้จะเห็นว่าน้ำหนักส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของตัวรถตู้จากการดัดแปลงนั้นจะอยู่ที่ตำแหน่งส่วนท้ายของรถซึ่งเป็นตำแหน่งของการติดตั้งเชื้อเพลิง ทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและพลาท้ายของรถตู้หลังการดัดแปลงแตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ตัวอย่าง เช่น จากอัตราส่วน 56% ต่อ 44% เปลี่ยนเป็น 47% ต่อ 53% ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อต่อน้ำหนักรวมจะลดลงไปกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดที่ล้อหลังจะเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งอย่างแน่นอน รถตู้โดยสารในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นตู้ดัดแปลงเสียส่วนใหญ่ เช่นการเพิ่มจำนวนเบาะที่นั่งจากการผลิตจากโรงงานคือจำนวน 10-12 ที่นั่ง เป็น 14-15 ที่นั่ง

 

ในปัจจุบันจะมีการนำรถตู้โดยสารสาธารณะขนาด 18 ที่นั่งมาใช้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงคมนาคม ที่ดูแลระบบขนส่งสาธารณะจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอย่างยิ่ง ควรต้องมีการทำการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับความเหมาะสมในการนำรถตู้มาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะอย่างจริงจัง จากรถตู้บรรทุกของสู่รถตู้โดยสารบรรทุกคน เพราะหากย้อนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่ารถตู้โดยสารถูกกำหนดให้กลายเป็นรถที่ถูกต้อง(มาตรฐาน 2) ก็เนื่องมากจากปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น ความนิยมของผู้โดยสารนั่นเอง มีการแปลงสภาพจากรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 1 คัน เป็นรถตู้ 3 คัน ซึ่งเป็นการกระทำตามน้ำของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก



{xtypo_rounded2} สำหรับข้อเสนอทางนโยบายด้านความปลอดภัยในประเด็นรถตู้โดยสารสาธารณะประกอบด้วยแนวทาง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ

  1. หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบกต้องเข้มงวดเรื่องของ การดัดแปลงเพิ่มที่นั่ง และการบรรทุกเกิน
  2. การเข้มงวดเรื่องความเร็ว และการขับรถอันตราย
  3. การบังคับใช้กฎหมายเรื่องที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยที่กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้
  4. กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลผู้ถือใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการควบคุมดูแลคนขับรถของบริษัท หรือที่เข้าร่วมบริการได้
  5. ทบทวนความจำเป็นของรถตู้โดยสารในเส้นทางต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมถูกต้องเอื้อประโยชน์กับผู้บริโภคหรือไม่
  6. พิจารณาศึกษามาตรฐานสำหรับรถตู้โดยสารประจำทาง ทั้งตัวถัง การประกอบ รวมถึงที่นั่งที่เหมาะสม{/xtypo_rounded2}

 

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 คือทางรอดสำหรับผู้บริโภคในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพราะหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คือการส่งเสริมการศึกษาและวิจัย รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

โดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โครงการ การมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย

พิมพ์ อีเมล