ข่าว/บทความรถโดยสาร

ข้อเสนอแนะเพื่อการยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

ปี 2552 ประเทศไทยประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน จำนวน 10,717 คน ถัดมาปี 2553 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 10,644 คน ลดลงจากปี 2552 เพียงแค่ 73 คน แม้จะมีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือมีการตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนขึ้นมาแล้วก็ตาม ในปี 2554 เป็นจุดเริ่มของ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่มีเป้าหมายให้แต่ละประเทศลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเวลา 10 ปี ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจร่วมกันของประชาชนทั่วโลก

การขับเคลื่อนโดยใช้ สิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ประการ ทำให้เกิดการสร้างระบบการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น 3 ระบบคือ ระบบป้องกันและเฝ้าระวัง ระบบร้องเรียน และระบบการชดเชยเยียวยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นระบบได้มากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า   

ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน  จึงขอเสนอ “มาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ”  เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยโดยรวม

 

ด้านความปลอดภัย

¡  รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดทุกมาตรฐาน ควรสนับสนุนให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสารทุกที่นั่งและให้มีการแนะนำส่งเสริมให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง

¡  ในการเดินทางของรถโดยสารติดต่อทุกๆ 4 ชั่วโมง ต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ หรือพนักงานขับรถต้องได้หยุดพักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาทีก่อนขับรถต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 103 ทวิ ผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ตามมาตรา 127

¡  ควรกวดขันให้รถโดยสารได้มีการตรวจสภาพรถ สภาพคนขับทุกเที่ยวรถที่ออกให้บริการ ให้รถโดยสารมีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง  อุปกรณ์ทุบกระจก พร้อมกระจกที่สามารถทุบให้แตกได้ให้ครบทุกคัน

 

ด้านการให้ข้อมูลข่าวสารและบริการแก่ผู้ใช้บริการ

¡  ผู้ให้บริการ ควรมีการรับประกันเวลาออกเดินทางและถึงจุดหมาย โดยให้มีการจ่ายค่าชดเชยหากผิดสัญญาประกันเวลา เช่นเดียวกับที่ผู้โดยสารถูกผู้ประกอบการปรับหรือริบค่าโดยสารในกรณีที่ขอเลื่อนการเดินทาง หรือมาไม่ทันเวลาออกรถ

¡  ตั๋วโดยสารนอกจากจะมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการร้องเรียนต่อบริษัทผู้ให้บริการแล้ว ควรมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการร้องเรียนต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด และ กรมการขนส่งทางบก เพิ่มเติมให้กับผู้โดยสารด้วย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการเดินรถ

¡  ตั๋วโดยสารควรมีการแจ้งถึงความคุ้มครองของประกันภัย ชื่อของบริษัทประกันภัยที่ผู้ประกอบการรถโดยสารจัดให้ผู้โดยสารด้วย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับบริษัทประกันภัย

¡  ควรมีระบบให้ข้อมูลหรือพนักงานบริการประจำรถ เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อของผู้ขับรถ ระยะเวลาการเดินทาง จุดที่จะมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ และข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ ในการเดินทางของผู้โดยสาร เช่น ข้อห้ามการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยสาร คำแนะนำในการไม่กระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือรบกวนสร้างความรำคาญกับผู้โดยสารอื่น ๆ  เป็นต้น

 

ด้านการชดเชยเยียวยา

¡  เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทขนส่ง จำกัด ควรมีมาตรการ กำกับดูแล เช่น การหยุดพักรถไว้ก่อน หรือระงับการให้บริการจนกว่าจะปรากฎข้อเท็จจริง หรือได้มีการชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

¡  เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้เสียหายต้องได้รับการดูแล ชดเชยความเสียหายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

 

สวนีย์  ฉ่ำเฉลียว  เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล