ข่าว/บทความรถโดยสาร

เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัยต้อนรับปีใหม่

ช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดเป็นช่วงที่มีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่สูงสุดช่วงหนึ่งของปี ไม่แพ้ช่วงเทศกาลสงกรานต์และทุกๆ ปี ก็พบว่า มีผู้โดยสารจำนวนมากทีเดียวที่พบอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ตัวเองนั่งไป

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เลือกนั่งรถกับบริษัทรถโดยสารที่คุ้นเคย หรือได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก โดยคำนึงเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัยและคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง

รู้ไหมคะว่าจากสถิติ อุบัติเหตุที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะในประเทศแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บ-เสีย ชีวิตนับพันราย ซึ่งผลสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2552-เดือนกรกฎาคม 2553 พบมีผู้บาดเจ็บจากรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 1,988 ราย เสียชีวิต 151 ราย เป็นผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากรถประจำทางปรับอากาศมากที่สุด รองลงมาคือ รถเมล์ รถนำเที่ยว และรถรับส่งพนักงาน สาเหตุหลักมาจากคนขับรถประมาท คุณภาพมาตรฐานของรถต่ำ และสภาพถนนที่ไม่ได้มาตรฐานนั่นเอง


ขึ้นรถอย่างไรให้ปลอดภัย

ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นนั่นก็เพราะว่ามีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล  รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก เบาะที่นั่งต้องมีเข็มขัดนิรภัยและต้องยึดติดมั่นคง ถังดับเพลิง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้

นอกจากเราจะดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับตัวเองเอง ผู้โดยสารทุกท่านยังสามารถช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะและเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุซึ่งถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย


เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ
ถึงแม้ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุแล้วก็ตาม แต่อุบัติเหตุก็เป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญ แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วขึ้นเราต้องมีสติ และมีวิธีปฏิบัติดังนี้
ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุโดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุ

ในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย
ขั้นที่สองนั้น สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสารจากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆหรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์


หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆว่า ผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้วจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง 

ขั้นสุดท้าย
สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org

โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหายในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถแต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหาย ท่านสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นค่ะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล