ทดสอบปลาดิบ กินอุ่นใจ ร้องเรียนได้หากย้อมสี

590530 foodfish
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโซเชียล กรณี “ปลาดิบ” อาหารญี่ปุ่นที่ใครหลายคนชื่นชอบว่า มีการ “ย้อมสี” ส่งผลให้เหล่าบรรดาขาเปิบปลาดิบต่างขยาดไม่กล้ากินไปตามๆ กัน แต่ถ้าใครอดใจไม่ได้ เพราะปลาดิบเป็นอาหารจานโปรดของหลายคนไปเสียแล้ว


วิธีทดสอบง่ายๆ ที่สามารถทำกันเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเข้าห้องแล็บตรวจโดย อาจารย์กนิฐพร วังใน อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยทั่วไปแล้วในเนื้อปลาจะมีโปรตีนหลายชนิด รวมถึงโปรตีนมายโอโกลบิน ซึ่งเป็นชนิดที่สามารถละลายในน้ำได้ดี ซึ่งผู้บริโภคทดสอบเองได้ง่ายๆ คือ
1. นำเนื้อปลาดิบ ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาโอ ปลาทูนา หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ลงไปในแก้วที่บรรจุน้ำเปล่า
2. ใช้ตะเกียบคนเนื้อปลาเพื่อให้โปรตีนละลายออกมา จะสังเกตว่าเนื้อปลาสีจะซีดลง
3. เทน้ำออก และนำน้ำที่ได้ไปจุ่มในหม้อน้ำร้อน หรือทดสอบในลักษณะต้มเนื้อสัตว์ในน้ำเดือดก็ได้
4. หากสังเกตเห็นว่าน้ำเปลี่ยนสีเป็นขาวขุ่น หรือสีชมพู และตกตะกอน แสดงว่าปลาดิบนั้นปลอดภัยไม่มีการย้อมสี 

แต่ถ้าน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีแดงเข้ม ใส และไม่ตกตะกอน พึงระวังเนื้อปลาดิบนั้นมีการย้อมสี ซึ่งผู้บริโภครู้เลยว่าสีที่ใช้ย้อมเนื้อปลานั้นเป็นสีผสมอาหารหรือ สีย้อมผ้า ซึ่งสีย้อมผ้านั้นหากนำไปย้อมอาหาร จะมีโลหะหนักเข้าไปปนเปื้อนและสะสมในร่างกาย

ดังนั้นหากไม่มั่นใจลองใช้วิธีทดสอบง่ายๆ นี้ตรวจสอบดูก่อนเพื่อความปลอดภัย และหากพบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โทรศัพท์ 0-2590-7000 สายด่วน 1556 ถือว่า ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลโดยใช้กฎหมายช่วยฟ้องหรือพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

ข้อมูลอ้างอิงจาก 1.นสพ.เดลินิวส์ 26 พ.ค.59 สอนวิธีทดสอบ'ปลาดิบ' ไม่ย้อมสีกินได้ปลอดภัย 2.หนังสือคู่มือการใช้สิทธิ์ด้านอาหารไม่ปลอดภัย สำหรับผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล