ผู้บริโภคกับสิทธิประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง

581104 medical
สิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของประชาชนคนไทย มี 3 สิทธิหลัก คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม จากสถิติประชาชนในประเทศไทยพบว่ามีผู้ใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพ จำนวนกว่า 48 ล้านคน สิทธิข้าราชการ จำนวนกว่า 5 ล้านคน และ สิทธิประกันสังคม จำนวนกว่า 10 ล้านคน

จากข้อมูลผู้ประกันตนโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งสถิติการเข้ารักษาพยาบาลมักเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน และผู้ประกันตนกลุ่มวัยทำงานมักใช้สิทธิด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต เช่น สิทธิจากการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ซึ่งแต่เดิมทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมมากนัก และที่ผ่านมาเครือข่ายผู้บริโภคได้มีการยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มเติมในสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเท่าเทียมกับสิทธิอื่น

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีประกาศตามที่ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีได้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีดังนี้

1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.กรณีคลอดบุตร 3. กรณีสงเคราะห์บุตร4. กรณีว่างงาน 5. ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้ทุพพลภาพ 6. กรณีทุพพลภาพ 7.กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย 8. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์   9. ขยายความคุ้มครอง

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
เพิ่ม : ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์
เดิม : มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย

กรณีคลอดบุตร
เพิ่ม : มีสิทธิได้รับไม่จำกัดจำนวนครั้ง + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง
เดิม : มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เหมาจ่าย ครั้ง 13,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน

กรณีสงเคราะห์บุตร
เพิ่ม : มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน
เดิม : ได้รับสำหรับบุตรอายุ 0-6 ปี คราวละไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาทต่อคน

กรณีว่างงาน
เพิ่ม : ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม
เดิม : ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก

ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้ทุพพลภาพ
เพิ่ม : สิทธิประโยชน์กรณีตายแก่ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง/ผู้ทุพพลภาพ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ
เดิม : ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย

ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพและตาย
เพิ่ม : สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
เดิม : ไม่ได้รับความคุ้มครอง)

กรณีทุพพลภาพ
เพิ่ม : ผู้ประกันตนซึ่งสูญเสียสมรรถภาพไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
เดิม : ผู้ประกันตนต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย ร้อยละ 50 จึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ

ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538
เพิ่ม : ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต
เดิม : ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี

กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ส่งมาแล้ว 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน กับกรณีที่ 2 ส่งมาแล้ว 120 เดือนขึ้นไป
กรณีที่ 1 เดิม:ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็ฯจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 1.5 เดือน
เพิ่ม: ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน

กรณีที่ 2 เดิม : ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือน ขึ้นไปให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 5 เดือน
เพิ่ม : ถ้าก่อนส่งถึงแก่ความตายผู้ประกันตรนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไปให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์
เพิ่ม :ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
เดิม : ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท (บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส) ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน
เพิ่ม : ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี
เดิม : ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี

ขยายความคุ้มครอง
เพิ่ม : ขยายความคุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการ ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ
เดิม : คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
เพิ่ม : ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
เดิม : ไม่คุ้มครอง

 ข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักงานประกันสังคม

581104 medical2

พิมพ์ อีเมล