รู้ทันสัญญาฟิตเนส

 วิถีการบริโภคในยุคปัจจุบันนับได้ว่าเป็นยุคแห่งการบริโภคแบบเร่งด่วน ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคที่รวดเร็วประกอบกับภาวะการแข่งขันทางการตลาดแบบเสรี ปัจจุบันเราจึงพบสินค้าและบริการแบบ "ขายตรง ถึงตัว" แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่บริการ " ฟิตเนส " ที่หลายคนเคยเจอมาแล้ว กับวิธีการขายแบบบุกประชิดตัว ก่อนยื่นข้อเสนอยอดดี มีโปรโมชั่นต่างๆ นานา ถึงขั้นชวนให้ลองใช้บริการฟรี พร้อมคำพูดทั้งหยิกทั้งหยอด ตั้งแต่ให้ "ว่าที่" ลูกค้า เห็นความจำเป็นของการออกกำลังกาย ไปจนถึงรู้สึกต่ำต้อยจากการมีสรีระที่ตกมาตรฐาน ใช้ลูกล่อลูกตื้อ จนถึงจุดที่ผู้บริโภคตกลงใจเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเพราะเห็นดีเห็นงามตามประโยชน์และราคาที่กล่าวอ้าง หรือเพราะทนความรำราญในลูกตื้อไม่ไหวก็ตาม

สัญญาการใช้บริการฟิตเนส กับ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และ
พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

กว่าจะรู้ว่า "หลวมตัว" ไปแล้ว ก็ตอนที่ไปใช้บริการจริง จากที่บอกว่าฟรี กลายเป็นแค่ส่วนลด ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้บอกในตอนแรกกลับผุดขึ้นมาให้สะอึก บางแห่งอุปกรณ์สถานที่ไม่ครบเท่าที่ควรต้องไปรอต่อคิวยังกับรอกดเงินจากตู้ ATM ตอนสิ้นเดือน หลายแห่งจะใช้บางบริการต้องเสียเงินเพิ่ม กว่าที่ผู้บริโภคจะเฉลียวใจก้มลงใช้แว่นขยายอ่านเอกสารสัญญา ก็พบว่าได้เผลอตัวลงลายมือชื่อทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้อ่านตัวอักษรเล็กๆ ที่พิมพ์ติดกันเป็นพรืดเต็มหน้ากระดาษ ระบุสารพัดเงื่อนไขผูกรัดมัดตัว

ที่สำคัญตอนจะบอกเลิกเป็นสมาชิกกลับไม่ง่ายเหมือนตอนสมัคร เพราะถูกบังคับด้วยเงื่อนเวลาการใช้บริการตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 2 ปี !! และส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกค้าต้องมากรอกแบบฟอร์มการยกเลิก พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ถึงที่บริษัท ฯ จากนั้นยังต้องมาลุ้นระทึกรอผลการพิจารณาอีกต่างหาก สารพันปัญหามีมากมายทั้งจากข้อสัญญาและข้อมูลจากการใช้บริการจริง สรุปได้คือ

     1. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น บอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดไม่ได้ รวมทั้งไม่ได้แจ้งสิทธิในการใช้บริการอย่างครบถ้วนซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้าทำสัญญาของผู้บริโภค
     2. สถานที่ออกกำลังกายและเครื่องมือออกกำลังกายไม่พอเพียง ทำให้ผู้ใช้บริการต้องแย่งกันใช้อุปกรณ์ รวมทั้งไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อมีของหายสถานบริการจะไม่รับผิดชอบ 
     3. เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งห้องน้ำ ล็อกเกอร์ ในสถานบริการไม่สะอาดเท่าที่ควร
     4. ฟิตเนสส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับรองรับเหตุฉุกเฉินต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพ 
     5. เทรนเนอร์บางคนไม่ได้ถูกฝึกมาให้กับสมาชิกทุกคนและบางคนไม่มีความรู้ที่ดีพอ

แต่ปัญหาสำคัญที่ควรกล่าวถึงเพราะมีความสำคัญอย่างมากและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ คือ
ปัญหาเรื่อง “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ” ซึ่งเพียงใดจะถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวถึงขนาดไม่เป็นธรรมนั้น ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องดังกล่าวซึ่งมีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2540 นั่นก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 แต่ไม่ค่อยมีใครจะนำมาใช้อ้างอิงให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก โดยเฉพาะกรณี “สัญญาการใช้บริการฟิตเนส ” ซึ่งไม่แน่เมื่อท่านได้อ่านบทความนี้แล้วอาจเห็นช่องทางในการนำหลักกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดประโยชน์กับตัวท่านเองและกับเพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่น ๆ ได้ โดยผ่านช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว และเอื้ออำนวยในการใช้สิทธิของผู้บริโภคอย่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

มีเครื่องมือ มีช่องทางแล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าจะใช้เครื่องมือที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านช่องทางที่เอื้ออำนวยให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้อย่างไร….

สัญญาที่เซ็นต์กับฟิตเนส เป็นสัญญาจำพวกไหนกัน ?
เพราะในสัญญาก็ไม่ได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามไว้แน่ชัดว่าจะรียกว่าสัญญาอะไร แต่เมื่อพิจารณาดูจากรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาแล้ว จะเห็นได้ว่าการที่ลูกค้าตกลงเซ็นต์สัญญาก็โดยมีจุดประสงค์หลักที่จะไปใช้บริการเพื่อออกกำลังกายยังสถานที่ที่บริษัทฟิตเนสเป็นฝ่ายจัดเตรียมไว้ให้ โดยยอมเสียค่าบริการเพื่อการเข้าไปใช้บริการนั้นในรูปแบบการเป็นสมาชิก ซึ่งเราอาจเรียกสัญญาดังกล่าวว่าเป็นสัญญาการใช้บริการฟิตเนส ก็ได้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับลักษณะและวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาที่กล่าวมาตอนต้นซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน

แต่สิ่งที่มีการวิวัฒนาการเพิ่มตามมาจากลักษณะของสัญญา ก็คือ รูปแบกลยุทธ์ทางการตลาดในการชักจูงให้คนมาทำสัญญาเพื่อใช้บริการดังกล่าวนั่นเอง อย่างที่หลายท่านคงพบเห็นได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ที่จะมี “ พนักงานขาย ” สาวสวย หนุ่มหล่อ หุ่นดี มาคอยชักจูงให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะมีหุ่นดี ภายใต้กระบวนยุทธ์แรกโปรโมชั่นลองใจในราคาสูง หากยังไม่สนก็จะตามมาด้วยโปรโมชั่นบีบหัวใจด้วยการลดสะบั้นหั่นราคาในเวลาอันจำกัดกันแบบเอาเครื่องคิดเลขมากดตัวเลขให้ดูกันจะจะเลย และหากเห็น ว่าที่ลูกค้า ยังลังเล ก็จะปิดท้ายต่อเนื่องด้วยโปรโมชั่นระเบิดหัวใจด้วยการให้ทดลองใช้บริการฟรีกันไปเลย และเพียงแค่เราเซ็นต์สัญญา ก็จะได้รับการแพร่พันธุ์สัญญาดังกล่าวในทันที ในส่วนนี้จะเน้นให้เห็นถึงฐานะของ “ พนักงานขาย ” เหล่านั้นว่า

ตามปกติพนักงานขายส่วนใหญ่มักจะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯตัวการอยู่แล้ว เพียงแต่ตำแหน่งหรือหน้าที่ของพนักงานขายนั้นอาจมีบำเหน็จอื่น ซึ่งเรียกว่าค่าคอมมิชชั่น เป็นค่าตอบแทนอันเนื่องจากการงานที่ได้รับมอบหมายนั้นได้กระทำสำเร็จลุล่วงนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับเช่นพนักงานคนอื่น ดังนั้นพนักงานขายจึงพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกค้าทำสัญญาให้ได้ กรณีพนักงานขายทำการติดต่อเสนอขายให้กับสมาชิกทั้งหลายนั้น ถือว่าเข้าลักษณะเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะถือเป็นการกระทำแทนบริษัทฯซึ่งถือเป็นตัวการต่อบุคคลภายนอก ซึ่งกระทำการโดยได้รับมอบหมายจากตัวการให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลภายนอกภายในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมาย การกระทำของพนักงานขาย (ตัวแทน) ที่กระทำไปนั้น ย่อมส่งผลให้ตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนได้ทำไปนั้นด้วย กล่าวคือ เมื่อพนักงานขายทำการติดต่อให้บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาเป็นสมาชิกของศูนย์ฟิตเนสได้แล้ว ศูนย์ฟิตเนส (ตัวการ) ก็ต้องผูกพันตามสัญญาที่ตัวแทนได้กระทำไป โดยสาระสำคัญคือต้องให้สมาชิกได้เข้าใช้บริการในศูนย์ฟิตเนสนั้น

ส่วนข้อตกลงการชำระค่าสมาชิกผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติจากบัตรเครดิตนั้น เห็นว่าเป็นข้อตกลงระหว่างสมาชิกกับศูนย์ฟิตเนสในเรื่องเงื่อนไขและวิธีการชำระเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามสัญญาการใช้บริการฟิตเนส ซึ่งอาจตกลงหักเงินจากบัญชีโดยระบุจำนวนเงินที่จะหักต่อเดือนไว้ หรือบางแห่งระบุให้หักชำระค่าสมาชิกล่วงหน้าตามสัญญาก็มี ซึ่งอาจถูกหักเป็นจำนวนเงินที่สูงเพราะคิดตามระยะเวลาการใช้บริการทั้งหมด แม้สมาชิกยังไม่ได้ไปใช้บริการก็ตาม

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตกับศูนย์ฟิตเนสนั้น เห็นว่า เป็นข้อตกลงที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตตกลงจะเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่เป็นผู้ถือบัตรของตน จากการที่สมาชิกได้เข้าไปใช้บริการที่ศูนย์ฟิตเนสนั้น แล้วอาจโอนผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติ เพื่อชำระให้แก่ศูนย์ฟิตเนส อันมีลักษณะเสมือนผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นตัวแทนในการเรียกเก็บเงินรวมทั้งโอนเงินให้แก่ศูนย์ฟิตเนส ซึ่งการจะหักเงินได้เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงการชำระค่าสมาชิกฟิตเนสผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติจากบัตรเครดิตที่สมาชิกลงชื่อยินยอมไปพร้อมกับการทำสัญญานั่นเอง ที่ศูนย์ฟิตเนสจะเป็นผู้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตให้หักตามนั้น นอกจากนี้ยังปรากฎว่าศูนย์ฟิตเนสได้ใช้วิธีแจ้งการหักบัญชีทางวาจาไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่สมาชิกได้ยินยอมไว้ ทำให้สมาชิกบางรายถูกหักเงินไปเป็นจำนวนมาก

ซึ่งจริงๆแล้วธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญาตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา พ.ศ. 2542 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยเมื่อผู้บริโภคใช้บัตรเครดิตสั่งซื้อสินค้าหรือบริการใดก็แล้วแต่ รวมทั้งบริการฟิตเนส หากผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อสินค้า หรือรับบริการใดๆ สามารถที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการ ภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือขอรับบริการ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ

กรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลา หรือได้รับแล้วแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เมื่อเหตุเป็นเช่นที่กล่าวมา ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จะต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง

และเมื่อมาดูรายละเอียดในข้อสัญญา จะเห็นได้ว่าสัญญาจำพวกนี้ก็ช่างมีวิวัฒนาการในการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างหลากหลายและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก เพราะสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็น “สัญญาสำเร็จรูป ” นั่นเอง ซึ่งหมายถึง สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน เพราะเหตุนี้ดังนั้นเมื่อสัญญาฉบับหนึ่งมีข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ก็สามารแพร่พันธุ์ไปยังผู้ทำสัญญาคนอื่น ๆ ให้ต้องได้รับผลเช่นเดียวกันได้อย่างง่ายดาย

อย่างไร ?...ที่เรียกว่า...สัญญาที่ไม่เป็นธรรม !!
กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเป็นกรอบของการทำสัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งโดยหลักแล้ว การทำนิติกรรมสัญญาโดยทั่วไปมีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคล รัฐจะไม่เข้าแทรกแซงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของปะชาชน แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ทำให้ผู้ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่า ถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบคู่สัญญาซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจด้อยกว่า ทำให้รัฐต้องกำหนดกรอบการแสดงเจตนาและเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดแนวทางให้แก่ศาลเพื่อใช้ในการพิจารณาว่าข้อสัญญาหรือข้อตกลงใดที่ไม่เป็นธรรม และให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับสัญญาการใช้บริการฟิตเนส ก็คือ
     - ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูประหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบ คู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร (มาตรา 4 วรรค 1) 

     
สำหรับความหมายของ สัญญาสำเร็จรูป ได้อธิบายไว้แล้วก่อนหน้า ซึ่งในฐานะผู้บริโภค เราคงต้องยอมรับสภาพกันอยู่ว่า สัญญาที่เราทำกับผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนเป็นสัญญาสำเร็จรูปแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน ทำบัตรเครดิต กู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ฯลฯ รวมทั้งสัญญาการใช้บริการฟิตเนสด้วยเช่นกัน ซึ่งสัญญาสำเร็จรูปเหล่านี้จะอยู่ภายใต้บทบังคับของพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ

การจะพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวบังคับใช้ได้หรือไม่เพียงไรนั้นต้องพิจารณาว่า
     (1) มีกฎหมายห้ามหรือไม่ มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ตามหลักกฎหมายที่มีอยู่เดิมคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เมื่อผ่านการพิจารณาขั้นแรกก็จะรู้ว่าสัญญานี้ใช้ได้หรือเป็นโมฆะเสียเปล่าไป

     (2) ถ้าสัญญาบังคับใช้ได้ไม่เป็นโมฆะ จึงมาพิจารณาต่อว่าสัญญาดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่และใช้บังคับได้เพียงไร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม(มาตรา 4 วรรค 1) ซึ่งกรณีดังกล่าวข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูประหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า ที่ทำให้ ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบ คู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมพอสมควรแก่กรณี

     (3) จากนั้นจึงมาพิจารณาว่าข้อตกลงที่ถือว่าอาจได้เปรียบมีลักษณะอย่างไร นั่นคือ
ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง (มาตรา 4 วรรค 3) โดยกฎหมายได้ยกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น
      - ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา เป็นเรื่องธรรมดาที่คู่สัญญาอาจต้องการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในบางเรื่องไว้ โดยทั่วไปกฎหมายยินยอมให้มีการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดได้ แต่ถ้าถึงขนาดยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด แม้ตัวเองจะจงใจผิดสัญญาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ไม่ต้องรับผิดแล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบกันมากเกินไป โดยเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภค หรือมีการทำสัญญาสำเร็จรูปไว้ให้ ซึ่งจะมีผลเป็นการบังคับกันไปในตัวว่า ถ้าไม่ยอมตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ก็ทำสัญญาไม่ได้
      - ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
      - ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
      - ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้องหรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา

     ส่วนการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายข้างต้นจะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่นั้นให้พิจาณาตามหลักในข้อ ( 5 ) เช่น ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

     (4) การตีความข้อสัญญาในกรณีมีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้กำหนด สัญญาสำเร็จรูปนั้น (มาตรา 4 วรรค 2)

     ( 5 ) การพิจารณาข้อสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อำนาจศาลพิจารณาพิพากษาให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ซึ่งการพิจารณาของศาลนั้นจะพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง
      (1) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
      (2) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
      (3) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา
      (4) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา ๑๐)

ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อีกประการที่สำคัญ คือ
- ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้า เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตกลง ผู้ประกาศ ผู้แจ้งความ หรือของบุคคลอื่นซึ่งผู้ตกลง ผู้ประกาศ หรือผู้แจ้งความต้องรับผิดด้วย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้ (มาตรา 8 วรรค 1)

ลองดูตัวอย่างสัญญาที่อาจถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น
ข้อจำกัดความรับผิดของฟิตเนส ที่ระบุให้บริษัท กรรมการบริษัท ลูกจ้าง ตัวแทน ของบริษัท หลุดพ้นจากความรับผิดใด ๆ ตามกฎหมาย สำหรับความรับผิดที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหาย หรือบาดเจ็บ (ไม่ว่าจะถึงชีวิตหรือไม่ก็ตาม) ต่อสมาชิกหรือแขกรับเชิญของสมาชิก หรือความเสียหายหรือสูญหายต่อทรัพย์สินของสมาชิกหรือของแขกผู้รับเชิญของสมาชิกที่เข้าใช้บริการ ไม่ว่าความเสียหายหรือสูญหายต่อชีวิตหรือต่อทรัพย์สินดังกล่าวจะเกิดขึ้นด้วยเหตุใด

กรณีระบุว่า หากสมาชิกมีความสามารถจำกัด สมาชิกขอรับรองว่าสมาชิกได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของสมาชิกแล้วก่อนที่จะเข้าทำสัญญานี้ (โดยไม่ต้องมีหลักฐานการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)

ในกรณีที่เป็นสมาชิกเฉพาะเดือน ตามที่ระบุไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดและประเภทของสมาชิกภาพ สมาชิกต้องชำระค่าบริการรายเดือน โดยผ่านระบบอัตโนมัติจนกว่าสมาชิกจะบอกเลิกสมาชิกภาพของตน โดยลงนามในแบบฟอร์มการขอเลิกสมาชิกภาพและส่งคืนบัตรประจำตัวสมาชิกของตนไม่น้อยกว่าห้า (5) วัน ทำการ ก่อนถึงกำหนดวันชำระเงินอัตโนมัติของสมาชิกในคราวถัดไป และเมื่อ บริษัทฯ อนุมัติการขอยกเลิกสัญญาของสมาชิกแล้ว สมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดสอง (2) เดือนหลังจากวันที่มีการชำระเงินอัตโนมัติดังกล่าว

ในกรณีที่ส่งคำขอสมาชิกภาพยกเลิกน้อยกว่า (5) วันทำการก่อนถึงกำหนดวันชำระเงินอัตโนมัติของสมาชิก สมาชิกจะถูกเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่ง 1 เดือน ณ วันถึงกำหนดชำระเงินอัตโนมัติดังกล่าว และสมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดสาม 3 เดือน หลังจากวันที่มีการชำระเงินอัตโนมัติดังกล่าว บริษัทฯจะไม่ยอมรับการบอกเลิกสมาชิกภาพโดยทางวาจา สมาชิกภาพของสมาชิกและการเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกรายเดือนโดยอัตโนมัติจะยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าสมาชิกจะบอกเลิกสมาชิกภาพตามวิธีการที่ระบุไว้ข้างต้น

หรือกรณีที่พบเห็นและเป็นปัญหามากคือ การกำหนดระยะเวลาการเป็นสมาชิกไว้ เช่น 6 เดือน ,12 เดือน ,1 ปี , 2 ปี โดยไม่สามารถบอกยกเลิกสมาชิกได้จนกว่าจะชำระค่าบริการครบตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แม้สมาชิกไม่ได้ไปใช้บริการ นับว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะบริษัทฯมิได้ให้ประโยชน์อื่นใดที่สมเหตุสมผลแก่คู่สัญญาเป็นการตอบแทนการเข้าเป็นสมาชิกนานขนาดนั้น

จะยกเลิกสมาชิกภาพไม่ได้เว้นแต่กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพที่เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถมาใช้บริการได้ อาจมีลักษณะที่ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ

ส่วนช่องทางการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัตินั้น ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลโดยอ้างหลักกฎหมายดังกล่าวขึ้นต่อสู้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะจำเลย หรือผู้บริโภคจะเป็นโจทก์ฟ้องเองผ่านช่องทางตามพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่สามารถฟ้องคดีด้วยวาจาได้ ไม่เสียค่าธรรมเนียม การพิจารณาคดีมีความรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจมีภาระที่ต้องพิสูจน์มากกว่า ที่สำคัญคือ กฎหมายได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจไว้ตามมาตรา 12 คือ

มาตรา 12 “ ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ”

ซึ่งแม้บทบัญญัติดังกล่าวจะไม่มีบทลงโทษในตัวบทกฎหมายอย่างชัดแจ้ง แต่ก็มีผลร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่จงใจฝ่าฝืนมาตรา 12 ดังกล่าว โดยศาลจะใช้หลักดังกล่าวพิจารณาประกอบการใช้อำนาจ เช่น อำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (มาตรา42) รวมทั้งศาลจะใช้ประกอบการตีความสัญญาในคดีผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 368 บัญญัติหลักเกณฑ์การตีความสัญญาว่า “ สัญญานั้น ท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ” ซึ่งถือได้ว่า “มาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ย่อมเป็น ปกติประเพณี ” ที่ศาลจะใช้ประกอบการตีความสัญญาในคดีผู้บริโภคด้วย ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมหรือไม่ อาจมีความสำคัญถึงขนาดกลายเป็นข้อแพ้ชนะในคดีได้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้และการตีความสัญญา

เรื่องปัญหาข้อกฎหมายหรือแนวทางด้านคดี ผู้บริโภคสามารถที่จะขอข้อมูลและรับคำปรึกษาได้จากองค์กรหลายแห่งที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สคบ. หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น

นอกจากนี้กรณีพนักงานขายโทรศัพท์มาทำการเสนอขาย หรือมีการใช้โบว์ชัวร์แผ่นพับ ก็อาจถือเป็นการโฆษณาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะเป็นการกระทำที่ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความทั้งตัวอักษร ภาพ แสง สี เสียง ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

การโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ซึ่งผู้ที่เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการ หรือโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 5 หมื่น ดังนั้นหากพบเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้ช่วยกันร้องเรียนไปที่ สคบ. ซึ่งมีอำนาจโดยตรงเพื่อจะได้ดำเนินการกับบริษัทฯดังกล่าวต่อไป

สรุป
สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาต้องการที่จะยกเลิกการใช้บริการฟิตเนส อาจดำเนินการได้ดังนี้คือ
1. ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาการขอใช้บริการไปยังบริษัทฟิตเนสพร้อมส่งบัตรสมาชิกคืนไปด้วย โดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอาจชี้แจงเหตุในการเลิกสัญญา เช่น
     - มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือ
     - ไม่ได้รับความสะดวก สบายในเรื่องของสถานที่ ฟิตเนตมีจำนวนสมาชิกเยอะเกินไปทำให้ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ได้ หรือ
     - อุปกรณ์ มีการชำรุด เสียหายบ่อย

เมื่อเลิกสัญญาแล้วต่างฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เหมือนก่อนที่จะมาทำสัญญากัน เงินที่ต้องจ่ายตามระยะเวลาที่คงเหลืออยู่ตามสัญญา ก็ไม่ควรต้องจ่ายเพราะเราไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว หากเป็นกรณีที่เราไม่ได้ไปใช้บริการเลย บริษัทฯควรต้องคืนให้เรา แต่หากว่าเราเคยไปใช้บริการบ้าง ก็คิดหักกันไปตามส่วน และหากบริษัทฯ เห็นว่ามีความเสียหายก็ให้เรียกร้องค่าเสียหายมา

2. ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิตให้ระงับการหักบัญชีพร้อมแนบสำเนาหนังสือตามข้อ 1. ไปด้วย โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

3. หากยังถูกหักเงินจากบัญชีอีก ให้นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.

สุดท้ายนี้คงต้องบอกว่าสัญญาโดยทั่วไปอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจของคู่สัญญา แต่ก่อนที่จะทำสัญญาใดๆ ต้องหยุดคิดและพิจารณาให้รอบคอบก่อนเสมอโดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงรุกเร้าจากพนักงานขายที่ดังเซ็งแซ่อยู่ข้างหู เพราะมิฉะนั้นเราอาจต้องมานั่งเซ็งเอง ภายหลังหลวมตัวเซ็นต์สัญญาเข้าไปแล้ว จะว่าไปแล้วลักษณะการให้บริการของธุรกิจฟิตเนสที่มีการเก็บค่าสมาชิกในการใช้บริการสูงถึงปีละ 10,000 – 30,000 บาท ว่า คงไม่สามารถตีมูลค่าได้ว่าเป็นบริการที่มีราคาแพงหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าแต่ละคน หากลูกค้าสามารถมาใช้บริการได้ทุกเย็นวันทำงาน ค่าบริการจะเฉลี่ยอยู่ที่ครั้งละเพียงไม่กี่บาท แต่สภาพความเป็นจริงคนไทยแม้มีความต้องการให้สุขภาพของตนเองดีขึ้น ก็ยังไม่ใช่ลักษณะพฤติกรรมของคนไทยที่จะเดินทางไปออกกำลังกายทุกวัน หรือบางกลุ่มไม่มีเวลาไปใช้บริการ รวมถึงบางคนที่ถูกตัวแทนขายรบเร้าให้เป็นสมาชิก ก็คงคิดว่าไม่คุ้มค่า

 ตัวอย่าง จดหมายบอกเลิกสัญญา

จดหมายเป็นเพียงตัวอย่างของการบอกสัญญา ซึ่งแต่ละคนจะมีเหตุการณ์ที่แตกต่างกันเช่น ก่อนทำสัญญาก็บอกว่าจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสปา มีสระว่ายน้ำ ครั้นพอทำแล้ว ก็ไม่มีการก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้ควรใส่ หรือหากมีใบโบชัวร์โฆษณา ก็ถ่ายเอกสารประกอบ จดหมายการบอกเลิกสัญญาด้วยค่ะ

ควรส่งจดหมายแบบมีใบตอบรับค่ะ

 



เสียเหงื่อให้กีฬา ดีกว่าเสียน้ำตาให้สัญญาทาส
ข้อมูลโดย สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล