รู้ทันประกันชีวิต ไม่ต้องตรวจสุขภาพ

580825 news
โปรโมชั่นที่มาแรงแซงโค้งของบรรดาบริษัทประกันชีวิตที่มักโฆษณาก็คือ “ไม่ต้องตรวจโรค” “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” ทำสัญญาได้ทันทีโดยเป็นแรงจูงใจผู้บริโภคให้มาทำสัญญากับบริษัท เป็นที่น่าสังเกตก็คือช่วงเวลาของการโฆษณาตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั่นคือช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้าน และผู้สูงอายุ เปิดทีวี ในความเป็นจริงแล้วทำได้ไหม

จากการเปิดเผยของนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่า ในแต่ละปีจะมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการรับสิทธิจากบริษัทประกันชีวิตภาคเอกชนในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น พบว่าปัญหาบริษัทประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมมาเป็นอันดับ 1 โดยอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนที่จะทำประกัน ทั้งที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ

ความจริงเบื้องหลังคำว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”
การไม่ต้องตรวจสุขภาพในการทำสัญญาประกันชีวิตนั้น โดยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวไว้ในมาตรา 865 วรรคหนึ่ง มีหลักว่า ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ...ในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกัน ภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

นั่นก็คือถึงแม้ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ผู้ที่จะทำประกันชีวิตเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคประจำตัวอะไรอยู่ก่อนเช่นเป็นโรคมะเร็งก็ต้องแจ้งต่อบริษัทประกันชีวิตทราบ ซึ่งทางบริษัทประกันชีวิตอาจบอกปัดไม่ทาสัญญาเพราะว่าการทำสัญญาประกันชีวิตกับคนที่เป็นโรคมะเร็งมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต เป็นเหตุให้บริษัทเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น ผลในทางกฎหมายนั้นหากไม่แจ้งว่ามีโรคประจำตัวอะไรก่อนทำสัญญา ก็จะเป็นเหตุให้ทางบริษัทประกันบอกเลิกสัญญาและถือว่าสัญญาประกันเป็นโมฆะได้นั่นเอง บริษัทประกันฯจะรู้ได้อย่างไรก็เพราะโดยใช้เวชระเบียนการรักษาของผู้ทำประกันชีวิตเป็นหลักฐานนั่นเอง

แต่ถ้าหากมีการทำประกันไปแล้วเกิดตรวจพบโรคมะเร็งภายหลัง  ทางบริษัทประกันฯจะยกเลิกการทำประกันไม่ได้ 

 

จากช่องว่างทางกฎหมายส่วนนี้ การทำประกันชีวิตโดยมีการโฆษณาว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ.2556 ว่าจะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่า การแถลงสุขภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัยหรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย

แต่ปัจจุบันยังไม่พบการระบุเรื่องดังกล่าวเอาไว้ในกรมธรรม์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเวลาจ่ายสินไหมทางบริษัทมักอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตปกปิดความจริงก่อน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

3 เคล็ดลับรู้ทันประกันไม่ต้องตรวจสุขภาพ
1. ข้อมูลรอบด้าน ถามข้อมูลให้ครบทั้งเบี้ยประกัน ระยะเวลา การตรวจสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจ ก่อนตกลงเซ็นต์สัญญา
2. เก็บหลักฐานการเสนอขาย เอกสารต่างๆ ทั้งโบรชัวร์ โฆษณาทางทีวี หรือกรณีทำประกันทางโทรศัพท์ให้บันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐาน ใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีได้
3. ตรวจสอบกรมธรรม์ เมื่อได้รับกรมธรรม์ให้ตรวจสอบความถูกต้องทั้งชื่อ ข้อมูลการทำประกัน เมื่อไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ให้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาภายใน 30 วัน

อ้างอิงข้อมูลจาก
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ.2556 http://goo.gl/Ym09t5 , Facebook ของ อาจารย์โชต อัศวลาภสกุล
ภาพประกอบจาก internet

3 เคล็ดลับรู้ทันประกันไม่ต้องตรวจสุขภาพ

1.       ข้อมูลรอบด้าน  ถามข้อมูลให้ครบทั้งเบี้ยประกัน ระยะเวลา การตรวจสุขภาพ   เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจ ก่อนตกลงเซ็นต์สัญญา

2.       เก็บหลักฐานการเสนอขาย เอกสารต่างๆ ทั้งโบรชัวร์   โฆษณาทางทีวี  หรือกรณีทำประกันทางโทรศัพท์ให้บันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐาน  ใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีได้

3.       ตรวจสอบกรมธรรม์  เมื่อได้รับกรมธรรม์ให้ตรวจสอบความถูกต้องทั้งชื่อ  ข้อมูลการทำประกัน เมื่อไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ให้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาภายใน 30 วัน

พิมพ์ อีเมล