เรามีกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ใช้ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 นั่นก็คือ “กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
จุดเด่นของกฎหมายก็คือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหายแล้วนั้น ยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (cross action) มานานแล้ว ส่วนในประเทศไทยนั้นเริ่มที่จะใช้กฎหมายตัวนี้แล้วเช่นกัน
แบบไหนถึงเรียกว่าเป็น “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”?
หลักสำคัญๆ ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าคดีที่ต้องการฟ้อง เข้าข่ายที่จะใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ มีดังนี้
1.ความเหมือนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการฟ้องร้อง ข้อกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มคนทั้งหมดที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มฟ้อง และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนถึงขั้นมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมฟ้องทั้งหมดจะได้รับการชดเชยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
2.เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนรวมกลุ่มกันแสดงตัวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้การดำเนินคดีแบบคดีสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินคดี สร้างภาระต่อศาลและทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของคดี
3.ถ้าหากใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ
4. “โจทก์” หรือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่างๆ ในศาล ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการฟ้องคดีที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอในการทำหน้าที่แทนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม
5.โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องพิจารณาผู้ที่เป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์โดยละเอียดและรอบคอบ
ข้อดีของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม
1.ช่วยลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาและบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วขึ้น และเกิดแนวทางตัดสินที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะหากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบทั่วไป คดีในลักษณะเดียวกันแต่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หากผู้เสียหายแต่ละคนต่างคนก็ต่างไปฟ้องคดี จะทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า
2.ลดภาระของผู้เสียหายบางกลุ่ม บางคน ที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินคดีในศาล การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงเหมือนเป็นการลดภาระให้กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายด้วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ในการฟ้องคดีแทนให้
3.ช่วยสร้างบรรทัดฐานของการพิจารณาคดี เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก เพราะหากผู้เสียหายจำนวนมากใช้วิธีฟ้องแบบทั่วไป ต่างคนต่างฟ้อง ผลของคดีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน การชดเชยเยียวยาที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้อาจไม่มีความเท่าเทียมกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผลของคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เสียหายทุกคนที่มีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มจะได้รับการชดเชยเยียวเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสมเท่าเทียม
4.เป็นเครื่องเตือนใจให้หน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ไม่กล้าทำละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เพราะหากมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็อาจถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความได้ด้วยการรวมกลุ่มฟ้อง ทำให้ความเสียหายที่เคยมองว่าเล็กน้อย กลายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น การชดเชยก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเมื่อได้รับความเสียหายที่เล็กน้อยมักจะเพิกเฉย ไม่ได้เรียกร้องสิทธิหรือฟ้องร้องเป็นคดีความเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่ต้องใช้ในการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการฟ้องร้องต่อศาลก็จะง่ายขึ้น คนไม่รู้กฎหมายหรือไม่เข้าใจเรื่องการฟ้องคดีก็สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีได้
คดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม
1.คดีละเมิด
2.คดีผิดสัญญา
3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า
ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
ขั้นตอนการขออนุญาต
1.โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
2.โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
3.คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย
4.ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่
5.เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย
6.ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุด
การพิจารณาคดี
1.เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขั้นต่อไปก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาในชั้นศาล โดยจะต้องมีการแจ้งคำสั่งเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมในกลุ่มฟ้องทราบผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 3 วัน และเพื่อให้สิทธิในการออกจากกลุ่ม
2.ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้พิจารณาไปแล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย
3.หากในระหว่างการพิจารณาคดี แล้วพบว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ
ดาวโหลดกฎหมายได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/028/1.PDF
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 173, สำนักงาน ไทยลอว์ คอนซัลต์, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040824
ภาพประกอบจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม