ความสำเร็จ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

 

   ffc web logo about us
 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers)

           เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำงานมาอย่างยาวนานและเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ในนามคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเป็นหลัก ผลงานในอดีตได้แก่ งานรณรงค์เรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูตรยาแก้ปวดลดไข้ จากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว การคัดค้านสิทธิบัตรยาและการใช้ชื่อสามัญทางยา การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในยุคแรก ๆ

            จากบทเรียนการทำงานในนาม คปอส. ทำให้เห็นความสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการคุ้มครองตนเอง ในยุคบริโภคนิยม จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่าง ๆ ได้มีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และยังมีวัตถุประสงค์สำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยตระหนักดีว่า ข้อมูล ความรู้คืออาวุธสำคัญที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีเพื่อใช้คุ้มครองตนเองในยุคบริโภคนิยม

 

วิสัยทัศน์ (Vision)

" สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคสร้างสรรค์ มุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิ "

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : พัฒนาศักยภาพ และกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : การสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สร้างสรรค์

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : ผลักดันให้เกิดนโยบายและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ

 

แนวคิดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค


๑. ใช้เงินให้คุ้มค่า (Value for Your Money)

ผู้บริโภคจำนวนมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังมีความต้องการใช้เงินของตนเองอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดี ปลอดภัยราคาไม่แพงมากนัก โดยไม่ได้สนใจมากนักว่าสินค้านั้นจะมาจากกระบวนการผลิตแบบใด ใครเป็นผู้ผลิต มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ทำให้การดำเนินกิจกรรมและวิธีการทำงานในยุคนี้มักให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพ ของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคได้ใช้ไป เช่น การทดสอบเครื่องซักผ้า รถยนต์ หรืออาหารต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อจะบอกและให้ผู้บริโภคเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อ ว่า สินค้าใดดีกว่าสินค้าใด หรือราคาถูกว่าและมีคุณภาพดีกว่า ดังเช่น วารสารคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ เช่น WHICH ของประเทศอังกฤษ CHOICE ของออสเตรเลีย CONSUMER REPORT ของสหรัฐอเมริกา TESTของอินเดีย หรือนิตยสารฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

๒. ค่าของเงินและค่าของคน (Value for Money and Also Value for People)

ถือเป็นยุคของการผลักดันให้การบริโภคร่วมกันของผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดคุณภาพทางสังคม ซึ่งกลุ่มผู้บริโภค เชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์และจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เช่น
     • ไม่ซื้อของเนสเล่ท์เพราะใช้วัตถุดิบที่มาจากจีเอ็มโอหรือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานของบริษัทนี้
        ในกรณีไม่ขายผลิตภัณฑ์มีมีจีเอ็มโอในกลุ่มประเทศอียูและสวิสเซอร์แลนด์ แต่ยืนยันจะจำหน่ายในประเทศไทย หรือ
     • การไม่ซื้อสินค้าของบริษัท ABBOTT ที่ไร้จริยธรรมในการค้าโดยการถอนการขึ้นทะเบียนยากับ อย. หลังจากประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL)
     • การรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าของแกรมมี่ จากปรากฎการณ์จอดำ


๓. ลดการบริโภค (Sustainable Consumption & Consumer Life Style)

การเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) มิใช่เป็นเพียงหาของสีเขียวไว้ใช้สอยแต่ต้องประมาณการบริโภคและทราบว่า การบริโภคทุกอย่างส่งผลกระทบต่อทั้งตนเองและสังคม ทำให้กิจกรรมที่ดำเนินการมุ่งไปสู่เป้าหมายการบริโภคแต่พอเพียง การลดการบริโภค เช่น มีกลุ่มรณรงค์ให้มีวันหยุดซื้อของ (Day Buy Nothing Day) การรณรงค์สัปดาห์หยุดดูโทรทัศน์เพราะเชื่อว่าโทรทัศน์เป็นเครื่องมือของบริโภคนิยมที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคแบบไร้ขีดจำกัด

 

งานสำคัญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

นิตยสารฉลาดซื้อ 

นิตยสารรายเดือน ตีพิมพ์มาแล้ว 19 ปี เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกผลักดันที่สำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์และจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Complaint and Legal Assistance Centre)

รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหา การจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง พัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

พัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

อาทิ เรื่องหลักประกันสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร และเขตการค้าเสรี

สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ องค์กรผู้บริโภค 

ให้มีการทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภครณรงค์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

  

กิจกรรมรณรงค์ด้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

  • หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  • องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

  • นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืน

  • นโยบายความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ผลักดันการติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม

  • รณรงค์หยุดขายการไฟฟ้า

  • รณรงค์หยุด FTA หยุดแปรรูปประเทศ

รณรงค์และส่งเสริมด้านสิทธิ

  • สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

  • องค์การอิสระผู้บริโภค กิจกรรมรณรงค์ด้านอาหาร

  • โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

  • ความมั่นคงด้านอาหาร

กิจกรรมรณรงค์ด้านยา

  • สิทธิบัตรยา

กิจกรรมรณรงค์ด้านพลังงาน

  • นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืน

 

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

พิมพ์ อีเมล