ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ชูรางวัล “Red Ribbon - WHO” เป็นตัวอย่างความสำเร็จการมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนในระบบสุขภาพ อัดแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ ถูกตัดหลักการนี้ออกตั้งแต่กรรมการยกร่างฯ ไปถึงเนื้อหากฎหมาย มีแต่ตัวแทนผู้ให้บริการเป็นเสียงหลัก แสดงเจตนาแทรกแซงระบบหลักประกันสุขภาพชัดเจน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในแง่ของกระบวนการแก้กฎหมายและเนื้อหาของกฎหมาย ทั้งๆที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จและช่วยให้การจัดบริการมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
นายอภิวัฒน์ ยกตัวอย่างการทำงานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยซึ่งทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ ในการร่วมผลักดันนโยบายและช่วยเหลือให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษา จนได้รับรางวัล Red Ribbon จากที่ประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 16 ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในปี 2549 และกลายเป็นแบบอย่างที่หลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้โดยเฉพาะในแถบเอเชียและแอฟริกา
นอกจากนี้ การดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้ไทยได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2559 ด้วยผลงานที่สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชียและเป็นประเทศที่ 2 ของโลก
“รางวัลที่ประเทศไทยได้รับ มันสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ” นายอภิวัฒน์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า น่าเสียดายการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพในครั้งนี้ ได้ตัดหลักการเรื่องการมีส่วนร่วมไป ตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายซึ่งทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยรัฐธรรมนูญระบุให้ประเมินผลกระทบและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แต่คณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คนจากกรรมการทั้งหมด 26 คน ส่วนกรรมการที่เหลือส่วนใหญ่เป็นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
“พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องของตัวแทนผู้ซื้อบริการสุขภาพแทนประชาชน (purchaser) ขณะที่บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขคือเป็นผู้ให้บริการ (provider) ดังนั้นสัดส่วนคณะกรรมการยกร่างก็ควรต้องเท่ากัน แต่ตัวแทนที่มาแก้กฎหมายกลับเป็นตัวแทน สธ.มานั่งกันสลอนเลย อันนี้มันทำให้หลักการเสีย แค่กลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว” นายอภิวัฒน์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการแก้ไขกฎหมาย ก็มีการแก้ไขให้เพิ่มจำนวนกรรมการหลักประกันสุขภาพจาก 30 เป็น 32 คน โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็คือสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการ หรือเรื่องการจัดซื้อยาของ สปสช.ก็อ้างว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาและจัดซื้อยารวม ทั้งๆ ที่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สปสช.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยประหยัดงบประมาณการซื้อยาของประเทศได้จำนวนมาก และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ก็เคยตรวจสอบการจัดซื้อก็ไม่พบว่ามีการทุจริตแต่อย่างใด ส่วนผู้ป่วยก็ไม่เคยขาดยา
“แล้วไปให้ สธ.เป็นคนจัดซื้อ ซึ่งหากถอดบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา มีทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการที่ต้องติดคุกจากคดีทุจริตยาไปหลายคน แค่นี้ก็แสดงเจตนาในการแทรกแซงระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยคือให้รัฐบาลล้มกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่โดยมีสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมอย่างแท้จริง
วันนี้ (อังคารที่ 20) เวลา 11.30 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นัดพบหารือกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ เลขาธิการ สช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องสุชน 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สธ.