"คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" มัจจุราชที่มองไม่เห็นตัว

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมายืนยันว่า เมื่อร่างกายมนุษย์ดูดซึมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดโรคภัยกับร่างกายได้หรือไม่ โดยเฉพาะโรคที่คนหวาดกลัวที่สุดคือโรค "มะเร็ง"

 

แต่คนที่ต้องอาศัยอยู่กับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ที่แข่งขันกันเพื่อให้บริการลูกค้า แต่ลืมมองถึงผลกระทบของคนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ขณะนี้ มีประชาชนหลายคน ลุกขึ้นมาต่อต้านพร้อมกับเรียกร้องขอค่าชดเชยรวมไปถึงผลักดันให้เสาสัญญาณมือถือที่มีอยู่ ออกไปให้ห่างจากหลังคาบ้านให้ไกลที่สุด

.....เนื่องเพราะเขาหวั่นเกรงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคลื่นแม่เหล็กที่ปล่อยออกมา เหมือนเป็น "มัจจุราชที่มองไม่เห็นตัว"

ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกับ สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น และสมาคมเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดแลกเปลี่ยนให้ความเห็นต่อผลการสำรวจบนเวทีผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อให้ข้อมูลกับผู้สนใจและเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอข้อมูลของตนเอง

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคกล่าวว่า การที่เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือมาติดตั้งใกล้กับชุมชนนั้นคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายๆ ด้าน โดยมีกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ชุมแพ โดยมีชาวบ้านรายหนึ่งที่เสาสัญญาณโทรศัพท์ มาตั้งอยู่ใกล้บ้านห่างเพียง 15 เมตร โดยบ้านเรือนปลูกสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 แต่เสาสัญญาณโทรศัพท์เพิ่งมาติดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2543 จากนั้นไม่กี่เดือนเจ้าของบ้านก็ป่วย โดยยายเป็นมะเร็งเต้านม ตาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยข้อมูลที่เรารับรู้ก่อนหน้านี้คือ หากมนุษย์อยู่ใกล้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ต่ำเป็นเวลานานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งและยังมีผลต่อระบบควบคุมในสมองมนุษย์ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว หน้ามืด คลื่นเหียน สับสน อ่อนเพลีย ความจำเสื่อม ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ชักกระตุก เป็นต้น

นอกจากนั้นเด็กที่ได้รับเคลื่อนแม่เหล็กเกินกว่า 4 MG เป็นเวลานานๆ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) ถึง 2 เท่าอีกด้วย

ในกรณีเดียวกันก็คือถ้าอยู่ใกล้กับเสาสัญญาณโทรศัพท์ในรัศมี 400 เมตร ก็เสี่ยงต่อการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม สายตาพร่ามัว และ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาคารชุดภายใต้และตรงกันข้ามกับบริเวณที่ตั้งบนหลังคาชุดมีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน

ปฏิวัติ บอกว่า สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับเสาสัญญาณภายในระยะ 400 เมตรเป็นเวลา 5 ปีมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงขึ้น 3 เท่า ส่วนกลุ่มผู้อาศัยใกล้เสาสัญญาณระหว่าง 3-7 ปี พบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่า 3 เท่า

"กรณีตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในอาคารที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณบนอาคารในนครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ป่วยเป็นโรคมะเร็ง 7 ราย และนี่ก็คือปัญหาที่ผู้บริโภคพบเจอมา และผู้บริโภคก็กลัวว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครอง" ปฏิวัติ กล่าว

เช่นเดียวกับ ปรีชา มหาวีรวัฒน์ ชาวบ้านชุมชนรุ่งพัฒนา 1 ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งได้รับความเดือดร้อน หลังจากมีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริษัทหนึ่ง ได้เข้ามาตั้งในชุมชนและห่างจากบ้านของเขาเพียง 5 เมตร เมื่อ 1 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้สภาพชีวิตเปลี่ยนไป

"ทุกวันนี้นอนไม่หลับ ปวดหัว และที่สำคัญเสียงดังรบกวนมาก เพราะเครื่องส่งสัญญาณไม่มีฝาครอบ รวมไปถึงนกนานาชนิดที่มาอาศัยอยู่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน" ปรีชา กล่าว

นอกจากนี้สมาชิกของชุมชนประมาณ 200 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินเรื่องเพื่อร้องเรียนกับ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เพื่อให้ช่วยดูแล และกำลังรวบรวมตัวกับจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพื่อให้บริษัทฯ ที่เป็นเจ้าของย้ายเสาออกไปอยู่ที่อื่น

ด้าน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) บอกว่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นอยู่กับคลื่นต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นคลื่นแม่เหล็ก คลื่นพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เพราะฉะนั้นแล้วเราอย่าไปวิตกกังวลให้มาก คลื่นต่างๆ มีทั้งด้านดีและไม่ดี หรือทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า เรานั้นจะสามารถใช้คลื่นในทางบวกได้มากน้อยเพียงใด

"กรณีที่ตัวแทนผู้บริโภคได้กล่าวมาว่า เด็กมีสิทธิเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) เป็นจริง เพราะมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในอาคารที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณบนอาคารในนครเมลเบิร์น" น.พ.ประวิทย์ กล่าว

นั่นก็หมายถึงว่า เด็กไม่ควรที่อยู่ใกล้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ และเด็กที่เกิดจากบิดามารดา ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงภายในระยะห่างไม่เกิน 200 เมตร มีอัตราความเสี่ยงเป็นโรคลูคีเมียสูงขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บิดามารดา อยู่ห่างจากสายไฟแรงสูงเกินกว่า 600 เมตรขึ้นไป

น.พ.ประวิทย์ บอกว่า นั่นหมายถึงคนท้องไม่ควรอยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงด้วย และนอกจากนี้ ทาง สบท. ยังได้เสนอโซนที่ไม่ควรมีเสาสัญญาณส่งคลื่น ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่รับเลี้ยงเด็กอ่อน

ขณะที่ นักวิชาการอย่าง เครือรัตนา กิ่งสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า เมื่อปี พ.ศ.2550 ได้มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติไว้ โดยมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นวันนี้อีก 3 มาตรา คือ มาตรา 5 บัญญัติ ว่า บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

ส่วน มาตรา 10 บัญญัติ ว่า เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้น และวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็วไว

มาตรา 11 บุคคล หรือ คณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ

เครือรัตนา บอกว่า ทั้ง 3 มาตรานี้ เป็นผลที่สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้านี้เคยระบุคำว่า “คลื่นสัญญาณโทรศัพท์” แต่ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกออกจากการใช้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเพราะเป็นมติของทางคณะกรรมการขั้นต้นที่ประชุมกัน

อีกในแง่หนึ่ง หากการตั้งเสาโทรศัพท์ (รวมถึงสถานีวิทยุ-โทรทัศน์อุปกรณ์ต่าง) ต่อไปในอนาคตได้สร้างผลกระทบขึ้นจริงย่อมถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากผู้อยู่อาศัยใบบริเวณใกล้เคียง จะได้รับผลกระทบตลอดระยะเวลาโดยไม่มีทางเลือกใดๆ แม้ว่าตนเองจะไม่เป็นผู้ใช้บริการก็ตาม

ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับกรณีผู้สูบบุหรี่มือสอง ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทำของผู้อื่น สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะต้องรีบทำก็คือ การตั้งมาตรฐานระดับความเข้มของคลื่นฯ ที่ไม่เป็นภัยต่อประชาชนในระยะยาวควบคู่กับการสื่อสารให้ข้อมูลความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ให้แก่ประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางเลือกและการใช้เทคโนโลยี แต่ละชนิดอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือลดภาวะผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

"คลื่นไฟฟ้า" ที่กำลังรุกคืบเข้ามาในชีวิต กำลังกลายเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องเอง ละเลยที่จะบอกถึงอันตรายจนกลายเป็นมหันตภัยใกล้ตัว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 09/04/52
พจน์ปกรณ์ ถนัดไร่

พิมพ์ อีเมล