ปราณารมณ์..ฝึกเทคนิคคิดฝ่าวิกฤติเครียด

ยามใดที่เราเครียดให้สังเกตสัญญาณเตือน 2 อย่างคือ อาการเกร็งตึงช่วงไหล่ไปจนถึงต้นคอกับอาการ “หายใจตื้น” มาถึงแค่คอหอย

อาการหลังนี้เองที่สามารถทำให้เราเจ็บป่วยไปก็ได้ไปจนถึงทำให้เกิดภาวะ “ช็อกทางจิตใจ” เพราะหายใจไม่เข้าปอดรู้สึกไม่มีลมเข้ามาหล่อเลี้ยงร่างกายเลย 

เมื่อถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าเราใช้อารมณ์คุมลมในกายเสียหมดจนไม่สบาย แต่ในทางกลับกันเมื่อสามารถใช้อารมณ์คุมได้เราก็อาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเปลี่ยนมาใช้ “ลม” ในการคุมอารมณ์ได้เหมือนกันโดยการจับสังเกตลมหายใจเข้าออกของเราให้ดีแล้วค่อยๆเรียบเรียงเสียประสานรีอะเรนจ์ใหม่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอขึ้นแล้วจะทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งท่านสามารถทำได้เองโดยใช้เทคนิกต่อไปนี้ครับ

“ปราณารมณ์” เข้าสั้น-ออกยาว เราทำได้เอง

การหายใจยามเครียดนั้นจะมีลักษณะเข้า-ออกดังนี้คือ “เข้าสั้น” และ “ออกสั้น” พูดง่ายๆคือตื้นไปหมดทั้งหายใจเข้าและออกมันมาจุกอยู่ที่ตรงคอหอยนี้เอง พอหายใจได้ไม่เต็มปอดก็ไม่อาจขับกาซพิษของเสียออกได้ทำให้ท้นล้นอยู่ดาษดื่นตามกระแสเลือด กาซพิษเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้ร่างกายแก่เร็ว และเกิดการอักเสบร้อนรุ่มขึ้นในกายทำให้ยิ่งหงุดหงิดใจเหมือนมีไฟมาสุมอก

ดังนี้คือข้อเสียของการใช้ “อารมณ์คุมลมหายใจ” ทำให้เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจก็ไม่เหลือไปด้วย แต่ถ้าเราใช้เทคนิกลมคุมอารมณ์ได้ การณ์จะกลับกันหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียวครับ

สำหรับท่านที่อยากจะพิชิตอารมณ์ตัวเองได้ด้วยลมหายใจแผ่วๆเท่านั้นขอให้มาช่วยกันทำตามเทคนิก “ปราณารมณ์” นี้ไปพร้อมๆกันครับ
1) คอยจับสังเกตลมหายใจตัวเราให้ชินว่าปกติหายใจเข้า-ออกใช้เวลาสักเท่าใด
2) เมื่อรู้แล้วจะทำให้รู้ทันอาการเครียดของตนได้เร็วขึ้นว่าเมื่อใดเริ่มหายใจสั้นกระชั้นแปลว่าเริ่มมีการเครียดเกิดขึ้นแล้วหรือจะใช้คอยดูอาการของเพื่อนข้างเราก็ได้ครับว่าเริ่มเครียดหรือยัง
3) ในช่วงแรกให้ปิดรูจมูกหนึ่งข้างแล้วหายใจเข้าลึกให้เต็มปอดหน้าท้องตึงจนแทบปริใช้เวลาตอนหายใจเข้าราว 5 วินาทีจากนั้นค่อยผ่อนลมออกทางจมูกรูเดียวเป็นเวลา 10 วินาที
4) ทำสลับรูจมูกกัน หายใจเช่นนี้สักสิบครั้งยามเครียดหรือต้องการสมาธิสูง
5) เมื่อปฏิบัติไปจนตบะแก่กล้าแล้วก็ให้เพิ่มเวลาเป็นช่วงหายใจเข้าสัก 6 วินาทีส่วนตอนหายใจออกใช้เวลาราว 12 วินาที 

ทั้งนี้ ให้คงสัดส่วนการหายใจเข้าออกนี้เอาไว้ให้หายใจออกยาวกว่าหายใจเข้าเป็นหนึ่งเท่าเสมอ(ช่วงหายใจเข้าต่อหายใจออก = 1:2 เสมอครับ)เพราะร่างกายจะได้รับออกซิเจนมากที่สุดขณะช่วงหายใจออกนี่เอง และเมื่อมีออกซิเจนล้มหลามในกายแล้ว บรรดากาซพิษที่รวมมิตรอยู่ในเลือด ก็จะถูกชะล้างออกมาจนทำให้รู้สึกสบายปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า อารมณ์ก็ย่อมจะดีตามไปด้วยอย่างแน่นอน

นี่เองคือเทคนิกปราณารมณ์ใช้ลมคุมจิตใจให้ผ่องแผ้วอยู่เป็นนิจแล้วจะได้ของดีที่สุดตามมานั่นคือเห็น “เกิด-ดับ” ได้จากลมหายใจนี่เองครับ

ไม่มีเวลาก็ฝึกได้ขอให้ตามลมหายใจ

มีครูบาอาจารย์ท่านให้นิยามสำหรับคนยุคใหม่ไว้ว่า ‘คนเดี๋ยวนี้เขาทุกข์เพราะความคิด' ซึ่งพินิจไปก็เห็นจริง ดังนั้น เริ่มตั้งแต่คิดถึงแต่เรื่องของตัวเองเป็นหลัก ไม่พักวางอัตตาไว้ใจ ก็จะหนักไม่สบาย ใครมากระทบหน่อยก็เจ็บปวดเพราะอัตตามันพองฟูคลุมตัวอยู่เป็นเป้านิ่งอย่างดีให้แก่คนรอบข้าง มาสะกิดสะเกาให้เกิดแผล

แต่แค่ท่านลดการนึกถึงตัวเองลง ลองง่ายๆ เวลาไหว้พระกราบลงไปตรงพระบาทพระบรมศาสดา จะรู้สึกว่าอัตตาเหลือศูนย์ ขณะนั้นตัวจะเบาหวิวสบายไร้ข้อขัดข้องใจใดๆ พร้อมที่จะให้โอกาสตนเองเสมอ

ทำให้รู้สึกมีความหวังเรืองรองขึ้นมาว่าแล้วพรุ่งนี้ชีวิตจะเริ่มใหม่ได้ ยิ่งถ้าได้ฝึกคู่ไปกับเรื่อง “ปราณารมณ์” ด้วยก็จะยิ่งดีเป็นที่หนึ่งทำให้ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับหรือยาคลายเครียดเลยแม้แต่น้อย

ส่วนเรื่องเวลาในการฝึกนั้นไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาอื่นเพิ่มเติมเข้ามาเลย ด้วยเทคนิก “ปราณารมณ์” นี้ทุกท่านสามารถทำได้ในทุกขณะแม้ผู้ที่มีงานรัดตัวอย่างที่สุด เพราะ ตราบใดที่ยังมีเวลาหายใจก็ย่อมจะมีเวลาสำหรับ “ปราณารมณ์” ด้วยเช่นกัน

โดย : น.พ.กฤษดา ศิรามพุช 
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 5/6/52

พิมพ์ อีเมล