ปฏิรูปประเทศไทย : ถ้าไม่ปฏิรูปนโยบายพลังงาน ไม่สำเร็จ!

1. คำนำ
ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่า เป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล

ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย

บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน

2. ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที
เรื่องนโยบายพลังงานไม่ใช่เป็นเดียวโดดๆ ที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมมนุษย์ยุคปัจจุบัน แต่มันเกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจน คนว่างงาน การทำลายแหล่งทำมาหากินของชาวชนบท รวมทั้งปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาแก้ไม่ตกของคนทั้งโลก

เพื่อความกระจ่างขึ้น ผมขอขยายความเป็นข้อๆ ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยเรามีขนาดใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับรายได้ประชา ติ ในปี 2536 คนไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าเพียง 11% ของรายได้ประชาติ แต่เพียง 15 ปีผ่านไป รายจ่ายด้านพลังงานกลับเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 19% ในปี 2551

ข้อมูลนี้ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงขนาดของปัญหาเท่านั้น แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงของปัญหาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

(2) แหล่งพลังงานฟอสซิลที่รวมศูนย์ (ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) ทำให้คนตกงานจำนวนมาก เฉพาะกิจการน้ำมันและกิจการไฟฟ้า (ที่มีขนาดถึง 11.1% และ 4.3% ของรายได้ประชาติ) พบว่ามีการจ้างแรงงานรวมกันไม่ถึง 1% ของแรงงานทั้งประเทศ ตัวเลขนี้ได้คิดรวมเด็กที่ทำงานตามปั๊มน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 2 แสนคนเข้าไปแล้ว

(3) พลังงานไม่เพียงแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ บุกอิรัก เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชุมชนของแต่ละประเทศอีกด้วย ระหว่างชุมชนด้วยกันเอง เช่น เขื่อนปากมูลเพื่อการผลิตไฟฟ้าได้ทำให้ประชาชนต้องอพยพกว่า 1,700 ครอบครัว ผลผลิตการประมงลดลง 80% นอกจากนี้ชาวแม่เมาะ มาบตาพุด ชาวระยอง และชาวจะนะ จังหวัดสงขลา ก็กำลังได้รับผลกระทบทางระบบหายใจ มะเร็ง ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ คงไม่ต่างกันมากนักกับสงครามที่ใช้ อาวุธที่มองเห็น

ปัจจุบันนี้ ทางรัฐบาลกำลังมีแผนการจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใหม่ถึง 6 โรง ทั้งๆ องค์กร กรีนพีช พบว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ชี้ชัดลงไปแล้วว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในบรรดากิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์

(4) พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่พ่อค้าจำนวนน้อยรายสามารถผูกขาดได้ นอกจากจะทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างไร้เหตุผลแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก เป็นการขยายช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น

จากรายงานการศึกษาของ UNDP หน่วยงานเพื่อการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุด 20% แรกกับคนจนที่สุด 20% ล่างสุดของประเทศไทยห่างกันถึง 13-15 เท่า ในขณะที่ของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ระหว่าง 9-11 เท่า (ญี่ปุ่นและสแกนดิเนเวียเพียง 3-4 เท่า)

จากบทความเรื่อง The Battle for Thailand ของ Warren Bello พบว่า เพียงช่วง 30 ปีของการพัฒนา (ในทศวรรษที่ 1960 ถึง 1990) ได้ทำให้รายได้ของคนในภาคการเกษตรลดลงจาก 1 ใน 6 เหลือเพียง 1 ใน 12 ของภาคส่วนอื่น

เว็บไซต์ nationmaster.com ที่อ้างถึงงานศึกษาจาก 141 ประเทศทั่วโลกพบว่า แหล่งน้ำจืดในประเทศไทยมีค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลก คืออยู่ในระดับที่ทำให้ปลารู้สึกเครียด นั่นแปลว่า ทั้งแหล่งอาหารโปรตีนและแหล่งรายได้ของชาวชนบทต้องอัตคัดขัดสนตามไปด้วย

แม้ว่าสาเหตุของปัญหาค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจะมาจากภาคอุตสาหกรรม และภาคคนในเมืองด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคพลังงานก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก

(5) การรวมศูนย์กิจการพลังงานที่มีลักษณะผูกขาด ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อโอกาสในการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดโครงการใหม่ การหวังค่านายหน้าที่ดิน การวางแผนที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ รวมถึงการกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ประชาชนไม่มีอำนาจใดๆ ไปต่อรอง ย่อมส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมที่สามารถสัมผัสได้

(6) การจ้างคนให้มาทำงานเพื่อการประหยัดพลังงานก็เป็นอีกประเด็นที่คุ้มค่าการจัดหาพลังงาน

นี่คือเหตุผล 6 ประการที่เชื่อมโยงถึงกันหมดดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่อยากจะเรียนย้ำอีกครั้งก็คือว่า มันมีขนาดใหญ่มากและเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้จริง

3. จะปฏิรูปไปสู่อะไร
ถ้าเราใคร่ครวญทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาแล้ว เราก็สามารถทราบได้ทันทีว่า เราต้องหาแหล่งพลังงานอื่นที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ (1) ไม่สามารถผูกขาด (2) ไม่ก่อมลพิษทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก (3) มีการว่าจ้างแรงงานให้คนได้ทำกันเยอะๆ และ (4) ไม่ยั่วน้ำลายของผู้ที่จ้องจะหากินกับโครงการขนาดใหญ่

แหล่งพลังงานที่ว่านี้คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล รวมทั้งการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงานด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยราชการ

หลายท่านอาจจะแย้งผมว่า “พูดแต่ทฤษฎี” ผมขอยกเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นจริงดังนี้ครับ

ในช่วงปี 2545 ถึง 2552 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเขามีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ไม้ฟืน น้ำเสียขนาดเล็ก 1 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และมีเป้าหมายให้ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ (มากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่ประเทศไทยใช้) ภายในปี 2556

คำถามก็คือ ประเทศไทยเรามีศักยภาพที่จะมีเชื้อเพลิงชีวมวลน้อยกว่าประเทศในยุโรปหรือ?

คำตอบคือไม่ ประเทศเรามีนาร้างจำนวนมหาศาล เฉพาะภาคใต้อย่างเดียวก็มีถึง 5 แสนไร่ นอกจากนี้ยังมีต้นตอของยางพาราที่ต้องโค่นทิ้งๆ ทุกๆ 20 ปีอีก 13 ล้านไร่

ผมประเมินอย่างคร่าวๆ ว่า ทั้งอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์นั้น มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 6-7 เมกะวัตต์เท่านั้น ถ้าใช้เชื้อเพลิงที่ชาวบ้านผลิตเองได้ในท้องถิ่น รายได้ก็จะตกเป็นของชาวบ้านประมาณหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี

ดีกว่าเอาถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะนอกจากเงินจะไหลไปต่างประเทศแล้ว ยังทำให้คนไม่มีงานทำ และทิ้งมลพิษไว้บ้านเราอีก

สำหรับกังหันลมทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละ 31% แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีเนื้อมีหนังเลย ส่วนพลังงานโซลาร์เซลทั้งเทคโนโลยีก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะเดียวกันต้นทุนถูกลงมากและกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์บอกว่ากำลังจะมาลงที่ประจวบคีรีขันธ์ แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชาวบ้านคัดค้าน

ก็ถือว่าเป็นข่าวดีนะครับ

4. จะทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน
ง่ายที่สุดและขอให้เป็นจุดเริ่มต้นด้วยคือ ขอโอกาสให้กลุ่มคนที่ทำงานในเรื่องพลังงานที่ผมเสนอ (ซึ่งก็มีหลายกลุ่ม) ได้มีโอกาสใช้สื่อของรัฐเท่าเทียมกับกลุ่มพ่อค้าพลังงานที่โฆษณาอยู่ทุกวัน ว่า “ถ่านหิน...พลังงานสะอาด” หลังจากนั้นสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะเดินไปทางไหน อย่างไร

5. สรุป
ผมเห็นด้วยครับว่า การปฏิรูปประเทศไทยต้องทำพร้อมกันหลายด้าน และต้องไม่ทอนพลังกันเอง แต่ถ้าละเลยเรื่องนโยบายพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โต เร่งด่วน และเป็นรูปธรรมสัมผัสได้ชัดเจน แล้วผมไม่คิดว่าการปฏิรูปจะไปถูกทาง แถมอาจจะเป็นการเสียเวลาเปล่าอย่างที่บางฝ่ายกล่าวถึง

ขออภัยที่ต้องขอสรุปอย่างตรงๆ เช่นนี้ครับ

 

โดย ประสาท มีแต้ม 9 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล