กฎหมาย-สิทธิผู้บริโภค

รู้ไว้ได้ประโยชน์ การฟ้องคดีผู้บริโภค

600420 newslawปัจจุบันมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 แล้ว เจตนารมณ์ของคดีผู้บริโภคเพื่อให้การดำเนินคดีรวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้ทนายความก็ได้ และผู้บริโภคไม่ต้องไปหาข้อเท็จจริงมาสืบ



คดีผู้บริโภคคือ???
คดีผู้บริโภค คือ คดีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภค ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เช่น คดีที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการจัดสรรต่างๆ เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ถ้าผู้ซื้อประกอบธุรกิจในการซื้อห้องชุดให้เช่า อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้วย ถ้าจะฟ้องผู้ขายก็ต้องฟ้องเป็นแบบคดีธรรมดา

ความแตกต่าง
ผู้ฟ้องไม่ต้องมีทนายความก็ได้ เราสามารถเดินไปที่ศาลในเขตอำนาจนั้นพร้อมหลักฐานต่างๆ เช่น สัญญาที่ทำ แผ่นพับโฆษณา ภาพถ่าย ฯลฯ แล้วไปติดต่อเจ้าพนักงานคดี จะเป็นผู้ร่างคำฟ้องให้เสร็จเรียบร้อย โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลเลย สะดวกรวดเร็วดีมาก (แต่หากผู้บริโภคประสงค์จะแต่งตั้งทนายความฟ้องเองก็สามารถทำได้ตามปกติ)

การยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค
การยื่นคำฟ้อง /คำให้การ คู่ความอาจกระทำด้วยวาจาผ่าน “เจ้าพนักงานคดี” ก็ได้ ให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการจดบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้อง แล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ให้โจทก์เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ทำได้มาพร้อมกับคำฟ้อง

ให้เจ้าพนักงานคดี ช่วยเหลือในการจัดทำคำฟ้องตามสมควรแก่กรณี รวมทั้งให้ตรวจสอบสถานการณ์เป็นนิติบุคคล/ภูมิลำเนาของคู่ความ (ให้ระบุสถานที่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวกและหมายเลขโทรศัพท์ของคู่ความไว้ด้วย) แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดรูปคดีทำนองเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ (ตั้งสำนวนปกสีฟ้าขนาด A4)

ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ คำฟ้องไม่ถูกต้องขาดสาระสำคัญในบางเรื่อง เจ้าพนักงานคดี อาจให้คำแนะนำโจทก์ เพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้องครบถ้วน และศาลก็อาจให้แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้อง/ชัดเจนขึ้นก็ได้(มาตรา 19-21,26,ข้อกำหนดฯ ข้อ 6-8)
- ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนอยู่ในเขตศาลต่อศาลอื่นได้ด้วย ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว (มาตรา 17)

- ผู้บริโภค/ผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค สามารถฟ้องคดีโดยได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง (รวมทั้งค่านำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง) แต่ถ้าผู้บริโภคฯ นำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อยฯ ศาลสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดแต่บางส่วนภายในเวลาที่กำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตามศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี (มาตรา 18)

การนัดพิจารณา
- เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยให้การ และสืบพยานในวันเดียวกันและสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้นด้วย

- การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลอาจสั่งให้ส่งทาง ป.ณ.ลงทะเบียนตอบรับ/ทางเจ้าพนักงานศาลโดยสั่งให้ปิดหมายและย่นระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที/ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ก่อนครบ 15 วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79) ก็ได้ ทั้งนี้ให้ส่งคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและผลแห่งการที่ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาให้จำเลยทราบด้วย (มาตรา 24, ข้อกำหนดฯ ข้อ 9-11)

กรณีคู่ความไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา
- ในวันนัดพิจารณา ถ้าโจทก์ไม่มาในวันนัดพิจารณาให้ถือว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบ (เว้นแต่ตามพฤติการณ์จะเห็นสมควรให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวโดยให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา), หากจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่มา ถ้าไม่ยื่นคำให้การไว้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา (มาตรา 27)
ถ้าคู่ความไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่มิใช่วันนัดพิจารณา ให้ถือว่าสละสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาของตน และทราบกระบวนพิจารณาในนัดนั้นด้วยแล้ว(มาตรา28)
การดำเนินคดีในวันนัดพิจารณา

ในวันนัดพิจารณาเมื่อคู่ความมาพร้อมกันให้เจ้าพนักงานคดี/ผู้ประนีประนอมประจำศาล (หรือบุคคลที่คู่ความตกลงกัน) ทำการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือให้คู่ความได้เจรจาบรรลุถึงข้อตกลงร่วมกัน, ถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ และเห็นควรเลื่อนการนัดพิจารณา ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนการนัดพิจารณาได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

เพื่อประโยชน์ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและสืบพยานศาลให้เจ้าพนักงานคดี สอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากคู่ความ แล้วจัดทำรายงานสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาทเสนอต่อศาลโดยเร็ว (มาตรา 25,ข้อกำหนดฯ ข้อ 14-18 ,ตั้งสำนวนปกสีชมพู)

ผู้ประกอบธุรกิจมี “ภารการพิสูจน์” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ ส่วนผสม การให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรา 29)

ผู้ประกอบธุรกิจมี “ ภาระการพิสูจน์” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ ส่วนผสมการให้บริการ ที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรา 29)

การสืบพยานหลักฐาน
ก่อนสืบพยานให้ศาลแจ้งประเด็นข้อพิพาท ภาระการพิสูจน์ในแต่ละประเด็น และลำดับก่อนหลังให้คู่ความทราบ (มาตรา 32)
ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง โดยอาจสั่งให้ เจ้าพนักงานคดี ตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี ตรวจสอบกระบวนการผลิต ตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภค / รายละเอียดฯ เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งประสานงานหรือเรียก ส.ค.บ. หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล / ส่งพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาได้ (มาตรา 33, ข้อกำหนด ฯ ข้อ 20-21)

ให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน (อาจใช้ข้อมูลจากรายงานของเจ้าพนักงานคดีเป็นแนวทางในการซักถามพยาน) คู่ความ/ทนายจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล
ศาลอาจให้เจ้าพนักงานคดี ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อความที่บันทึกภาพ / เสียงการเบิกความ-จัดทำสำเนาเป็นลายลักษณ์อักษร, ให้เจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบและดูแลให้คู่ความดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบข้อบกพร่องก็ให้รายงานศาลพร้อมด้วยแนวทางแก้ไขโดยเร็ว (มาตรา 34 ข้อกำหนดฯ ข้อ 22-24)

วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
การสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนยื่นฟ้องคดี ศาลอาจให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่เหมาะสม
นอกจากวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. ศาลอาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการ / ห้ามกระทำการเพื่อบรรเทาความเสียหาย ป้องกันเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความ / ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม เช่นประกาศให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลโดยถูกต้องครบถ้วน ให้จำหน่ายสินค้า / บริการภายให้เงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ให้ศาลสั่งเท่าที่จำเป็นและไม่เกินสมควรแก่กรณีโดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวม (มาตรา 56-63, ข้อกำหนดฯ ข้อ 25-27)

คำพิพากษา / คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
ศาลให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นเพื่อประกอบการทำคำพิพากษา / คำสั่ง โดยต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะโต้แย้งคัดค้าน (ข้อกำหนด ฯ ข้อ 28)

ศาลอาจกล่าวในคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษา ฯ ในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิด 10 ปี (มาตรา 40)
ศาลอาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ผู้บริโภค แทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้ (มาตรา 41)

ถ้าผู้ประกอบธุรกิจเจตนาเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม จงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำการฝ่าฝืนต่อฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น (ไม่เกิน 2 เท่า / 5 เท่า ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิด 50,000 บาท) จากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง –มาตรา 42)

อุทธรณ์ – ฎีกา
ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีผู้บริโภคไปยังศาลอุทธรณ์ (ภาค) แผนกคดีผู้บริโภคภายใน 1 เดือน ห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีผู้บริโภคที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท เว้นแต่ศาลอุทธรณ์ฯ จะอนุญาต, คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ฯ ให้เป็นที่สุด (มาตรา 46-50)

คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขออนุญาตอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท / ในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ / เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย (มาตรา 51-55)

นอกจากนี้ ผู้พิพากษามีอำนาจพิพากษาในเชิงลงโทษต่อผู้ประกอบธุรกิจได้ด้วย โดยอาจกำหนดค่าเสียหายให้มากกว่าที่โจทก์ขอหรือมากกว่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ในกรณีที่มีความชำรุดบกพร่องอันไม่อาจซ่อมแซมแก้ไข ก็อาจขอให้เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ได้

ดาวโหลดกฏมายคลิก https://goo.gl/KcPvRJ 
ข้อมูลจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พิมพ์ อีเมล