ปัญหาของรถตู้โดยสารมีให้พูดถึงอยู่เสมอ และก็มักเป็นปัญหาซ้ำๆ ที่ทำให้ผู้โดยสารอย่างเราช้ำใจอยู่เสมอ ล่าสุดก็เป็นข่าวคราวครึกโครมกันขึ้นมาอีกรอบ นั่นคือ “รถตู้โดยสารบรรทุกเกิน” แถมยังมีความพยายามทำลายสถิติ กันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการสำรวจ พบว่า รถตู้โดยสารสายกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี บรรทุกผู้โดยสารสูงสุดจำนวน 20 คน ปี 2555 มีการเพิ่มจำนวนเป็น 23 คน แต่ในปี 2556 พบว่า รถตู้สายกรุงเทพฯ-นครปฐม มีการบรรทุกผู้โดยสารถึง 28 คน ทั้งที่ข้างรถเขียนไว้ว่า “จำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 14 หรือ 15 ที่นั่ง” ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เกิดในเส้นทางเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ขยายตัวไปยังเส้นทางการเดินรถแทบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะช่วงหลังทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ โดยสารทั่วสารทิศ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-โรงเกลือ,อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ระยอง,อนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ-สมุทรสงคราม,สำโรง-คลองด่าน,ปากน้ำ-สุวรรณภูมิ,หาดใหญ่-พัทลุง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถร่วมบริการของ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.)และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.) ตามลำดับ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) , บขส. และ ขสมก. ก็มีมาตรการที่เข้มงวดสำหรับแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เสมอมา
สำหรับมาตรการลงโทษ ประกอบด้วย รถหมวด 1 และหมวด 2 คือ รถที่วิ่งในเขตเทศบาล สุขาภิบาล และรถวิ่งจากกรุงเทพ ไปจังหวัดต่าง ๆ ผิดครั้งที่ 1 ขบ.ปรับ 5,000 บาท และแจ้งผู้ประกอบการ (บขส. หรือ ขสมก.) ปรับเพิ่มอีก 5,000 บาท (รวมเป็น 10,000 บาท)ผิดครั้งที่ 2 ขบ.ปรับ 5,000 บาท และแจ้งผู้ประกอบการ (บขส. หรือ ขสมก.) ปรับเพิ่มอีก 5,000 บาท พร้อมทั้งให้พักใช้รถ 15 วันผิดครั้งที่ 3 ขบ.ปรับ 5,000 บาท และแจ้งผู้ประกอบการ (บขส. หรือ ขสมก.) ปรับเพิ่มอีก 5,000 บาท พร้อมทั้งถอนรถออกจากการประกอบการ (บัญชี ขส.บ.11)
ส่วนรถหมวด 3 และ หมวด 4 คือ รถที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด และรถที่วิ่งภายในจังหวัด ผิดครั้งที่ 1 ขบ.ปรับ 5,000 บาทผิดครั้งที่ 2 ขบ. ปรับ 5,000 บาท และแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการถอนรถออกจากการประกอบการขนส่ง (บัญชี ขส.บ.11)ผิดครั้งที่ 3 ขบ.ปรับ 5,000 บาท และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้กับผู้ ประกอบการรายดังกล่าว
ปัญหาเรื่องการบรรทุกเกิน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้โดยสารแบบซ้ำซ้อน เพราะไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการจะละเมิดสิทธิผู้โดยสาร โดยการเรียกเก็บเงินเท่ากันคนหนึ่งได้นั่ง แต่อีกคนยืน (เสียเงินเกินกว่าการได้รับบริการ) ผู้โดยสารที่ขึ้นรถทั้งที่รู้ว่าที่นั่งเต็ม ก็ยังละเมิดสิทธิด้านความปลอดภัยของเพื่อนผู้โดยสารคนอื่นด้วย เพราะ รถตู้โดยสาร คือ รถปรับอากาศมาตรฐาน 2 (ชั้น 2) ขนาดกลาง มีระวางที่นั่งระหว่าง 10-11 ที่นั่ง (การกำหนดของ กรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551)
แต่ที่เราพบเห็นและใช้บริการ รถตู้ 14 ที่นั่ง และ 15 ที่นั่ง เป็นการควบคุมจำนวนที่นั่งให้เป็นไปตามสภาพของรถตู้โดยสารที่จดทะเบียน พิจารณาจากรุ่นการผลิตของรถตู้โดยสาร โดยน้ำหนักรวมหลังจากจากติดตั้งเบาะโดยสารและถังเชื้อเพลิงในตัวรถแล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อบรรทุกผู้โดยสารคือ ต้องไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม หากรถตู้คันใดแบกน้ำหนักเกินจะมีผลคือ สมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงอาจมีผลโดยตรงต่อการควบคุมรถ การบังคับเลี้ยวจนเกิดเหตุการณ์ หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถล ยางระเบิด เป็นต้นรวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งอย่างแน่นอน
การที่เราขึ้นรถทั้งที่รถเต็มก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักส่วนเกิน จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงตามมา เช่น กรณีรถตู้โดยสาร สายสุโขทัย-พิษณุโลก เกิดอุบัติเหตุ ยางระเบิดพลิกตกคูน้ำ ผู้โดยสารตายคาที่ 4 ศพ เจ็บอีก 14 ราย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 พนักงานขับรถให้การว่า “ขณะขับรถมาถึงที่เกิดเหตุล้อหลังด้านขวาเกิดยางระเบิดทำให้ตัวรถสะบัดหมุน คว้างอย่างรุนแรง ไม่สามารถควบคุมรถได้ จนหล่นลงร่องน้ำข้างทางทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต”
ถึงแม้ว่าปัญหา “รถตู้บรรทุกเกิน” จะยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เชื่อว่า หากผู้โดยสาร ร่วมมือกันเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง เป็นสายตรวจ เป็นหู เป็นตา ถ่ายคลิป ถ่ายภาพ แล้วร้องเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้อาจมีข้อจำกัดของบุคลากรนั่นเอง
สำหรับช่องทางร้องเรียน แจ้งเหตุมีดังต่อไปนี้ สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก ที่ 1584 บริษัท ขนส่ง จำกัด ที่ 1490 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ 1348 ตำรวจทางหลวง 1193 กองบังคับการตำรวจจราจร (บกจร.) 1197 และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)ที่ 02-248 3737 หรือ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และหน้าเพจของ อีกแล้วรถโดยสารไทยhttp://www.facebook.com/againbus เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเชื่อเสมอว่า
“ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าพร่ำบ่นพันครั้ง”
ข้อมูลโดย :
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)