เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ยัน ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 1845

 Artboard 1

สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาออนไลน์ ‘ผลกระทบ CPTPP ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร’ ด้านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP

            จากการที่รัฐบาลไทย มีนโยบายที่จะพยายามจะนำประเทศไทยเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) โดยอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าว ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเสียผลประโยชน์นั้น

         วันนี้ (17 มิถุนายน 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ‘ผลกระทบ CPTPP ต่อผู้บริโภคและเกษตรกร’ เพื่อทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร และเพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 'CPTPP' โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

         โดยในเวทีเสวนาได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ที่เข้าร่วมการเสวนา ได้แสดงจุดยืนร่วมกันว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP และพร้อมที่จะรวมพลังกันคัดค้านเรื่องดังกล่าว

         สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในเวทีเสวนา กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. ให้ข้อมูลว่า CPTPP แตกต่างจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อื่นๆ ที่ประเทศไทยเคยทำ เนื่องจากการร่างข้อตกลงเขตการค้าเสรีโดยปกติจะมีการตกลง เจรจา และแก้ไขเนื้อหาจนได้ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน แต่ CPTPP คือความตกลงที่มีอยู่แล้ว และเนื้อหาของความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้ว หากไทยแสดงเจตจำนงเข้าร่วม จะทำได้เพียงแค่ตั้งข้อสงวน และระยะเวลาปรับตัวที่ไม่เกินไปกว่าประเทศสมาชิกเก่า แต่ไม่สามารถเจรจาแก้เนื้อหาได้

         “การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพ เช่น ยาจะราคาแพงขึ้น 14,000 ล้านบาท/ปี ราคาอาหารจะแพงขึ้นเนื่องจากเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป รวมไปถึงเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศไทยต้องเป็นที่รับขยะนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องมือแพทย์มือสอง และยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การไม่ต้องขึ้นทะเบียนเครื่องสำอาง ไม่ต้องขึ้นทะเบียนสินค้าออนไลน์ และการนำเข้าหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง พืช GMOs ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” กรรณิการ์ กล่าว

         ด้านวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง เนื่องจากนายทุนจะสามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ส่งผลให้ราคาอาหารแพงขึ้น แต่ความหลากหลายของอาหารน้อยลง  ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าการเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่เลี้ยงหมู 150,000 ครัวเรือน และเกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ 5.4 ครัวเรือน

         ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำข้อเสนอถึง คณะรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ชะลอการเข้าสู่ CPTPP  โดยมีข้อเสนอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป

         สารี กล่าวอีกว่า หากยืนยันจะพิจารณาเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางหรือมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเข้าถึงยาก ความปลอดภัยของเครื่องสำอาง การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช รวมถึงปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าไหร่ก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน

         ส่วน อนันต์ เมืองมูลไชย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จังหวัดลำปาง ได้เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบโดยระบุว่า เรื่องการลงทุนเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญและควรจับตามอง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคจะได้ใช้ การเข้าร่วม CPTPP อาจทำให้การกำกับดูแลการลงทุนเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะหากรัฐออกกฎหมายหรือมาตรการที่กระทบต่อนักลงทุนก็อาจถูกฟ้องร้องได้

“ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศให้ขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 แล้วถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องร้อง ซึ่งหากเป็นก็เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดว่าการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมจริงหรือไม่ หรือจะส่งผลดีต่อกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น” อนันต์ กล่าว

 

ดูคลิปวิดีโอฉบับเต็มได้ที่ : Facebook LIVE เวทีเสวนาออนไลน์ | 'ผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกร หากเข้าร่วม CPTPP'

Tags: สภาองค์กรของผู้บริโภค, CPTPP, NoCPTPP

พิมพ์