รู้สิทธิผู้บริโภคในการใช้บริการสายการบินในประเทศ เมื่อเที่ยวบินดีเลย์-ยกเลิกจะได้รับการชดเชยอย่างไร

ภาพข่าวสายการบินสงกรานต์ 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความรู้เรื่องการชดเชยให้กับผู้บริโภค เมื่อเที่ยวบินล่าช้าและถูกยกเลิกในการใช้บริการสายการบินภายในประเทศ เพราะอาจเกิดปัญหาในช่วงสงกรานต์ที่มีเที่ยวบินมาก

          วันที่ 13 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากจะเดินทางโดยรถโดยสารแล้ว ผู้บริโภคยังเดินทางโดยเครื่องบินเป็นจำนวนมาก และอาจเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง หรือเที่ยวบินถูกยกเลิก แต่ส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า เมื่อเจอปัญหาลักษณะนี้แล้วผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง จึงอยากให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิการใช้บริการสายการบินภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ที่สายการบินต้องชดเชยให้กับผู้บริโภคเมื่อเที่ยวบินล่าช้า เกิน 2 ชั่วโมงเป็นต้นไป หรือยกเลิกเที่ยวบิน การชดเชยจะแบ่งเป็น 5 กรณี ได้แก่

1. กรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

(1) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(2) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(3) เมื่อผู้โดยสารไม่ต้องการเดินทางต่อให้สายการบินคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็นบัตรกำนัลการเดินทาง (Travel Vouchers) หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

2. กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

(1) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(2) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดติอสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(3) เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง

          (3.1) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

          หรือ (3.2) เปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกันหรือวันอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่าง โดยสายการบินไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเที่ยวบินแล้วค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้ ส่วนในกรณีที่เปลี่ยนเที่ยวบินไปยังสนามบินที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิม สายการบินจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย

          หรือ (3.3) เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ถ้าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินจะต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้

3. กรณีล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

(1) ปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง

(2) จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาททันที ก่อนที่ผู้โดยสารจะออกเดินทาง ยกเว้นว่าสายการบินพิสูจน์ได้ว่าการล่าช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ในกรณีสายการบินต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยเงินสด 600 บาท ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

4. กรณีล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติเหมือนกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน

5. กรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้

(1) เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง

          (1.1) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าต้องการคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทน ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

          หรือ (1.2) เปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกันหรือวันอื่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่าง โดยสายการบินไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเที่ยวบินแล้วค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้ ส่วนในกรณีที่เปลี่ยนเที่ยวบินไปยังสนามบินที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิม สายการบินจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย

          หรือ (1.3) เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หรือจุดหมายที่ใกล้เคียงกับจุดหมายเดิมโดยเร็วที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ถ้าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำกว่าค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่จ่ายไว้แล้ว สายการบินจะต้องจ่ายส่วนต่างคืนให้

(2) ให้การดูแลผู้โดยสาร ดังนี้

          (2.1) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

          (2.2) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

          (2.3) จัดที่พักแรมให้แก่ผู้โดยสารตั้งแต่ 1 คืนขึ้นไป ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินใหม่ที่มีกําหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากําหนดเวลาเดิมเกินกว่า 1 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(3) จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 1,200 บาททันที ก่อนที่ผู้โดยสารจะออกเดินทาง ยกเว้นว่าสายการบินพิสูจน์ได้ว่า

          (3.1) ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินและรายละเอียดทางเลือกในการเดินทางอื่นๆ ให่ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน

          หรือ (3.2) ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน ในกรณีที่เที่ยวบินใหม่ที่เปลี่ยนนั้นจะออกเดินทางก่อนหรือหลังกำหนดวันเวลาเดิม และไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง

          หรือ (3.3) การยกเลิกเที่ยวบินนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

          ทั้งนี้ การพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ตกเป็นภาระของสายการบิน ในกรณีที่สายการบินต้องการจ่ายเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยจำนวน 1,200 บาท ผู้โดยสารต้องยินยอมก่อนเท่านั้น

info สิทธิการใช้บริการสายการบิน เล็ก 01

          การชดเชยของสายการบินนั้น ผู้บริโภคจะต้องได้รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียม หรือเงินส่วนต่าง ภายในระยะเวลาที่นับจากวันที่สายการบินได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว ดังนี้ 1. กรณีซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการภายใน 7 วัน 2. กรณีซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดบัตรเครดิตต้องดำเนินการภายใน 45 วัน

          หากผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือในการเรียกร้องการชดเชยจากสายการบิน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

พิมพ์ อีเมล

กลับบ้านสงกรานต์ปีนี้! ชวนผู้บริโภครู้สิทธิในการใช้บริการรถโดยสาร

ภาพข่าวรถโดยสารสงกรานต์ เว็บ 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัยในการขึ้นรถโดยสารกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ต้องได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง ที่นั่งมีเข็มขัดนิรภัย ร้องเรียนได้ พร้อมแนะวิธีการเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

          วันที่ 12 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางกลับไปหาครอบครัวตามภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ โดยรถโดยสารสาธารณะหรือเครื่องบินเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้โดยสารได้รับรู้สิทธิผู้บริโภคในการใช้บริการรถโดยสาร และเรื่องที่ควรระมัดระวังในการใช้บริการ

          ในการใช้บริการรถโดยสาร ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ  ต้องได้รับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน และสามารถร้องเรียน หรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ปัญหาที่ผู้บริโภคควรระวังในช่วงเทศกาล คือ ตั๋วผีหรือตั๋วเถื่อน (การซื้อตั๋วโดยสารไปขายต่อราคาแพงขึ้นในช่วงเทศกาล) ที่มักจะขายนอกจุดที่ซื้อตั๋วตามสถานีขนส่ง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุบริษัทรถทัวร์จะไม่ยอมรับผิดชอบ ฉะนั้นผู้บริโภคต้องได้รับตั๋วโดยสารเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าขึ้นรถที่ไหนและของบริษัทอะไร เมื่อขึ้นรถแนะนำให้สังเกตป้ายเลขทะเบียนรถโดยสาร ถ่ายรูปไว้เป็นข้อมูลและอาจจะส่งให้ที่บ้านดูว่าเราขึ้นรถสายไหน เพื่อที่เมื่อเกิดปัญหาญาติพี่น้องจะได้ดำเนินการได้

          ด้านรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คนขับมีความพร้อมในการขับขี่ ปลอดภัย มีรถเพียงพอในการให้บริการ ไม่ให้ผู้บริโภคนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย รถโดยสารทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยพร้อมทุกที่นั่ง ผู้บริโภคเองก็ควรรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถต้องส่งไปถึงปลายทาง ไม่ทิ้งไว้กลางทาง เมื่อเจอปัญหาควรร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง และแอปพลิเคชัน DLT GPS

          นางนฤมล กล่าวถึงการเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุว่า ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องค่าเสียหายตามสิทธิของการใช้บริการรถโดยสาร ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งปรับวงเงินในการคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ใช่คนขับ ค่าเสียหายในการรักษา คือ 80,000 บาท เสียชีวิต 500,000 บาท

info สิทธิพรบผู้ประสบภัยจากรถ เล็ก

เอกสารและวิธีการที่ผู้ประสบอุบัติเหตุใช้ในเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

     1) ต้องยื่นเอกสารเรียกค่าสินไหมทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ

     2) ยื่นเอกสารกับทางบริษัทประกันที่รับทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

          -  สำเนาบัตรประชาชนผู้เสียหาย

          -  เอกสารในการรักษาพยาบาล (ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน)

          -  บันทึกประจำวันเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แสดงว่าผู้เสียหายประสบอุบัติเหตุ

          -  สำเนาใบมรณบัตร กรณีผู้ประสบเหตุ เสียชีวิต

     3) หากประกันไม่ยอมจ่ายสามารถยื่นเอกสารเรียกร้องต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ คปภ. ประจำจังหวัดได้ทันที

เอกสารและวิธีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เล็ก 01

          หากผู้บริโภคพบปัญหาเกี่ยวกับรถโดยสาร ร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง และแอปพลิเคชัน DLT GPS หรือหากเกิดอุบัติเหตุ ต้องการความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหาย สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

พิมพ์ อีเมล

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยวิจัยการกำหนดราคา “ขนส่งสาธารณะ” ของรัฐ สภาผู้ชม ไทยพีบีเอสชี้ปัญหา 3 อันดับแรก ความปลอดภัย-รถไม่ได้มาตรฐาน-รถไม่เพียงพอ

S 14139438

          วันที่ 5 เมษายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไทยพีบีเอส จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การเดินทางสาธารณะในกรุงเทพฯ” ชวนให้ผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง รถไฟฟ้า และเรือเมล์ประจำทาง เชื่อมโยงกับประเด็นเมืองน่าอยู่ ความปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีส่วนร่วม เสนองานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ พร้อมข้อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสภาผู้ชม ไทยพีบีเอส จะนำความคิดเห็นสะท้อนไปสู่เชิงนโยบายที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ในอนาคต ในแคมเปญ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65”

          นางฐาณิษา สุขเกษม นักวิจัยอิสระ มพบ. กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ว่า ในมุมของคนทั่วไปเมื่อผู้บริโภคออกไปเคลื่อนไหวจะมองว่ามองแต่ในมุมของเรา ไม่ได้มองมุมของผู้ประกอบการหรือภาครัฐเลย ฉะนั้นจึงจะทำงานวิจัยใน 2 มิติ เพื่อให้เห็นถึงหลักการกำหนดค่าโดยสารมากขึ้นและเห็นภาพรวมของราคาโดยสารสาธารณะทั้งไทยและต่างประเทศเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ เนื้อหาวิจัยเริ่มต้นจากฐานคิดของภาครัฐในการจัดการขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เป้าหมายรายได้ ความเท่าเทียมทางสังคม เป็นมิตรกับผู้โดยสาร กลุ่มผู้ใช้เป็นประจำ และจุดคุ้มทุน ส่วนฐานคิดของผู้โดยสารขนส่งสาธารณะ ได้แก่ ความคุ้มค่า ราคาที่เป็นธรรม ความสะดวก ความยืดหยุ่น ความคุ้มครองและความปลอดภัย

          ในเรื่องขอวิธีการกำหนดราคาค่าโดยสารจากทั่วโลก แบ่งออกเป็น 5 แบบ ได้แก่ 1.ราคาเดียว เหมาะกับเมืองที่มีขนาดเล็ก 2.ราคาตามระยะทาง เช่น รถเมล์ปรับอากาศที่จะคิดราคาตามระยะทาง 3.ราคาตามโซน/เขต ในประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นแต่ต่างประเทศจะเห็นการกำหนดแบบนี้ค่อนข้างมาก ใช้ในเมืองที่มีการจัดโซนที่ชัดเจน เช่น อังกฤษ 4.ราคาตามช่วงเวลา เช่น กำหนดราคารถสาธารณะต่ำลงในช่วงเวลาที่คนเข้าออกเมืองจำนวนมาก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวและสนับสนุนให้ใช้รถสาธารณะ 5.วิธีผสมผสาน

1001

          เมื่อเทียบค่าโดยสารสาธารณะปัจจุบันของไทย (แบบไป-กลับ) กับรายได้เฉลี่ยต่อวัน 300 บาท ข้อมูล ณ วันที่ 6 มี.ค. 65 รถเมล์ประจำทาง ราคาต่ำสุดคิดเป็น 5.33% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 18% ต่อรายได้ขั้นต่ำ BTS ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10.67% ราคาสูงสุดคิดเป็น 39.34% MRT ราคาต่ำสุดคิดเป็น 9.34% ราคาสูงสุดคิดเป็น 28% ARL ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10% ราคาสูงสุดคิดเป็น 30% เรือเมล์ประจำทาง เรือด่วนแสนแสบ ราคาต่ำสุดคิดเป็น 6% ราคาสูงสุดคิดเป็น 12.67% เรือด่วนเจ้าพระยา ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10% ราคาสูงสุดคิดเป็น 33.34%

          ส่วนค่าโดยสารสาธารณะของต่างประเทศ เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อวัน แบ่งเป็นรถเมล์ประจำทาง 1.สิงคโปร์ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 4,163 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 1.06% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 2.5% ต่อรายได้ขั้นต่ำ กำหนดราคาตามระยะทาง 2.มาเลเซีย รายได้เฉลี่ยต่อวัน 395 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 3.94% ราคาสูงสุดคิดเป็น 19.72% กำหนดราคาตามโซน/เขต 3.อินโดนีเซีย รายได้เฉลี่ยต่อวัน 168-420 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 9.46-3.78% ราคาสูงสุดคิดเป็น 9.46-3.78% กำหนดราคาเดียว รถไฟฟ้า 1.สิงคโปร์ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 4,163 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 0.22% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 1.42% ต่อรายได้ขั้นต่ำ กำหนดราคาตามระยะทาง โดยสิงคโปร์กำหนดราคารถไฟฟ้าถูกกว่ารถเมล์ เพราะอยากให้คนใช้รถไฟฟ้า 2.ญี่ปุ่น รายได้เฉลี่ยต่อวัน 2,307 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 4.00% ราคาสูงสุดคิดเป็น 7.75% กำหนดราคาตามระยะทาง 3.อังกฤษ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 3,175 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 6.53% ราคาสูงสุดคิดเป็น 14.43% กำหนดราคาวิธีผสมผสาน ตามโซน ประเภทบัตร และช่วงเวลา

1003

          นางหทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์ สมาชิกสภาผู้ชม กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัญหาที่พบของรถสาธารณะ คือ 1.ความปลอดภัย 2.สภาพรถไม่ได้มาตรฐาน 3.ปริมาณรถไม่เพียงพอ 4.ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 5.คุณภาพและมารยาทของพนักงาน สิ่งที่ต้องการในวันนี้คือจะเสนออะไรกับภาครัฐ จึงอยากฟังว่าการบริการที่เป็นมิตรเป็นอย่างไร ให้รัฐทำอย่างไรบ้าง โครงสร้างราคาที่เป็นธรรมและทุกคนเข้าถึงได้คืออย่างไร มาตรฐานความปลอดภัยเป็นอย่างไร โดยการแสดงความคิดเห็นจะอยู่ในประเด็น กทม.เดินทางทั่วถึง คล่องตัว เชื่อมโยงเมืองด้วยระบบบริการสาธารณะแบบบูรณาการ ต้องการให้รถสาธารณะเพียงพอ คล่องตัว และปลอดภัย รองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เสมอภาคและเท่าเทียม และมีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ความคิดเห็นและข้อเสนอในเวทีนี้จะสะท้อนไปสู่เชิงนโยบาย และเอาประเด็นไปกำหนดเป็นวาระเพื่อไปขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม

996

1006

1007

พิมพ์ อีเมล

เปิดเทอมต้องปลอดภัย ขนส่ง-สพฐ.-ปภ. รับข้อเสนอองค์กรผู้บริโภค หนุนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นตัวชี้วัด ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเชิญร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่

ภาพข่าวเวทีรถรับส่งนร 01

องค์กรผู้บริโภคเสนอรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นวาระของจังหวัดและเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียน ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ สพฐ. ขนส่ง รับข้อเสนอ เน้นย้ำความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม ด้าน ปภ.ยินดีเชิญให้ร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่

          เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดเวทีเสวนา บทเรียนและอนาคต ทิศทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ผ่านทางเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหารือถึงแนวทางและมาตรการที่จะจัดทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

          นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประสบอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียนนั้นมักจะพบในข่าวบ่อยครั้ง และในข้อมูลสถิติพบว่าเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง รวมถึงยังมีสถิติเรื่องของการลืมเด็กไว้ในรถที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคม ในเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย สสส. เข้ามามีบทบาทที่จะพยายามชักชวนให้เห็นปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง พัฒนาให้เกิดนโยบายสาธารณะ และหาผู้ที่เป็นเครือข่ายเกาะติดขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 6 ภาค ก็ได้เข้ามาช่วยทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่พัฒนาผลักดันให้มีรถโรงเรียนที่มีความปลอดภัย ซึ่งการทำงานเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะควบคู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงโควิด โรงเรียนในหลายจังหวัดอาจเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ จึงต้องดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคู่กับการแพร่ระบาดของโควิด โดยสวมหน้ากากอนามัย ไม่รับประทานอาหารบนรถโรงเรียน รวมถึงการทำความสะอาดมือและรถ ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นเรื่องพื้นฐานทุกวัน รวมถึงอยากให้โรงเรียนต่างๆ ครู ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือช่วยกันดูแลในเรื่องนี้

ภาพข่าวเวทีรถรับส่งนร รุ่งอรุณ สสส 01

          นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นกับการทำงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน คือ 1. ต้องการให้เรื่องรถรับส่งนักเรียนเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนทุกแห่ง ถ้าทุกโรงเรียนทำจะทำให้มีมาตรฐานและแนวทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคมีรูปแบบการทำงานที่มีคู่มือ ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ 2. ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ให้รถทุกคันเข้ามาตรวจสภาพและขออนุญาตขนส่งทุกภาคเรียน 3. ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้เป็นวาระของระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ บางพื้นที่เข้าใจเรื่องอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง หมวกกันน็อค แต่น้อยมากที่จะเข้าใจเรื่องรถรับส่งนักเรียน ดังนั้นความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน จึงไม่ใช่แค่รถจักรยานยนต์กับใบขับขี่ ความปลอดภัยจากการใช้รถรับส่งนักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรต้องให้คำนิยามที่ชัดเจนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

          สำหรับการพัฒนาแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคยินดีที่จะเข้าร่วมให้ข้อมูลกับทาง ปภ. เนื่องจากมีมิติมุมมองที่จะช่วยกันในระยะยาว และอยากชวนทุกหน่วยงานมาร่วมกันผลักดันให้ “รถรับส่งนักเรียน เดินทางไปกลับปลอดภัย อุบัติเหตุเท่ากับศูนย์” เป็นวาระการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมสร้างมาตรการป้องกันมากกว่าตามแก้ไขมาผนึกกำลังกันเพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยกับนักเรียน เป้าหมายอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์เกิดขึ้นได้แน่นอน

          นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ขอเสนอข้อพิจารณาเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เป็นทิศทางในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยอยากจะเห็นความชัดเจนใน 3 เรื่องนี้ คือ 1. โครงสร้าง ระบบจัดการ และระบบสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ งบประมาณ กฎระเบียบ/อำนาจหน้าที่ เอื้อให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามาจัดการ โดยแก้ไขนิยาม “การศึกษา” ให้รวมถึงการเดินทางมาศึกษาอย่างปลอดภัย และให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกำหนดให้การจัดรถรับส่งนักเรียนเป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระทำได้โดยตรง รวมทั้งสนับสนุนให้มีกลไกระดับท้องถิ่นในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่  2. ระบบข้อมูล เพื่อเฝ้าระวัง และสะท้อนความเสี่ยง โดยเฉพาะด้านคน พนักงานขับรถ สมรรถนะ เป็นต้น 3. เครือข่าย ความร่วมมือ กรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน รวมถึงด้านโครงสร้างการกำกับดูแลให้ไปถึงระดับอำเภอ ท้องถิ่น ถ้าทุกจังหวัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัด ดำเนินการเรื่องนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนได้

          นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงการเปิดเทอมที่จะถึงว่า สพฐ. คำนึงถึงความปลอดภัยทั้งองค์รวมของกระบวนการที่จะต้องดูแลเด็กนักเรียน โดยในวันเปิดภาคเรียนการศึกษา วันที่ 1 พ.ย. 2564 หลักการที่เลขาธิการให้ในที่ประชุม คือ ต้องเปิดเทอม เพราะนักเรียนจะเสียโอกาส โดยที่เร่งรัดให้ฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข คือ ร้อยละ 85 จึงจะเปิดเทอมได้

          “ความปลอดภัยทางถนนยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อใกล้เปิดเทอมแล้ว สพฐ. จะแจ้งทีมงานให้มีข้อสั่งการเตรียมการเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น จะต้องระมัดระวังเรื่องการขนส่งมวลชนเป็นพิเศษ” นายธีร์กล่าว

          นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพวกเราต้องทำงานเป็นภาคีเครือข่ายมากขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กนักเรียน เราไม่ควรจะสูญเสียเด็กคนไหนไปอีกแล้วในระบบด้วยเหตุเหล่านี้ และสำหรับการทำตัวชี้วัดกับโรงเรียนที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคเสนอมา ส่วนหนึ่งมีประเด็นนี้อยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้วแต่ยังไม่ชัด จึงอาจจะต้องใส่ในมาตรฐานเขตและโรงเรียน และเรื่องมิติในแผนของการปฏิบัติการ สพฐ. ฉะนั้นจะรับข้อเสนอไปหารือกับทางฝ่ายบุคลากร ในการปรับเงื่อนไขให้ชัดขึ้นอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำแผนของ สพฐ.

          ว่าที่ร้อยตรีหญิง นวลพร ไชยเดชกำจร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้กฎหมายกับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่มีใบอนุญาต และเข้มงวดกวดขันในพื้นที่ โดยกรมการขนส่งทางบกจะมีผู้ตรวจการออกตั้งด่านอยู่เป็นประจำ นโยบายทุกครั้งในช่วงเปิดเทอมก็จะมีการตั้งด่านในช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อที่จะตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ผ่านการตรวจอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก และถ้าจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้นก็อาจจะขอความร่วมมือผู้ปกครองที่จะไม่สนับสนุนไปใช้รถเหล่านั้น หรือทางโรงเรียนที่จะจัดการขึ้นทะเบียนให้เป็นรถรับส่งของโรงเรียนนั้นๆ ก็ควรที่จะให้รถผ่านการตรวจสภาพ หรือได้รับการอนุญาตเป็นภาคเรียนจากกรมการขนส่งทางบกก่อน แม้กระทั่งการสื่อสารทำความเข้าใจในพื้นที่ เนื่องจากผู้ขับรถบางคนไม่เข้าใจ ส่วนมากทุกจังหวัดจะมีกลุ่มไลน์รถรับส่งนักเรียน อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เข้าสู่ระบบของโรงเรียน

          นายวิทยา จันทน์เสนะ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในแผนพัฒนาแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุดภายในปี 2564 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชนไว้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 5 ซึ่งจะมีระยะเวลาการทำงานระหว่างปี 2565–2570 โดยมีเป้าหมายผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ในร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ด้วย และกำลังจะมีเวทีของการรับฟังความคิดเห็น จึงอยากเชิญทุกท่านให้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงระบบทั่วประเทศ และขอเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

พิมพ์ อีเมล

ศาลตัดสิน กทม. จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ กรณีสร้างลิฟต์ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้ากว่า 5 ปี

BTS01

ศาลตัดสิน กทม. จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้พิการ กรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการร่วมกันฟ้อง กทม. จัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายบนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส 23 สถานี ล่าช้ากว่า 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จตามคำสั่งศาล

           จากกรณีที่ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. เมื่อปี 2550 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปี (ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559) แต่จนถึงปี 2564 กทม. ก็ยังไม่สามารถดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้แล้วเสร็จได้ โดยเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว วันนี้ (15 กันยายน 2564) ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี

           นายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ หรือ Transportation For All (T4A) กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. หรือพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. และต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน

           เนื่องจากศาลมองว่า กทม. พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด 5 ปี แต่ประสบปัญหาต่างๆ เช่น ถูกร้องเรียนจากชุมชนว่าลิฟต์บังหน้าร้าน หาที่สร้างลิฟต์ไม่ได้ ทำให้ล่าช้าเป็นเวลา 5 ปี รอบแรกเติมลิฟต์ให้หนึ่งฝั่งกับสถานีที่ไม่มีลิฟต์เลย ปัจจุบันเติมลิฟต์ให้ครบสองฝั่งกับสถานีที่มีลิฟต์ฝั่งเดียว ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ศาลเห็นว่าผู้พิการที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากขนส่งสาธารณะได้ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้พิการ

            “ดีใจที่ชนะคดี เพราะทราบปัญหาของ BTS มาตั้งแต่ ปี 2538 เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วที่ต่อสู้เรียกร้องกันมา ช่วงแรกจะแพ้เป็นหลัก แต่หลังจากมีกฎหมายเรื่องคนพิการ จึงทำให้การต่อสู้มีน้ำหนักมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับค่าเสียหาย และได้ค่าเสียหายน้อยกว่าที่เรียกไป แต่ก็ประสบความสำเร็จ” นายสว่างกล่าว

             ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2550 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ให้จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากขณะนั้นรถไฟฟ้าบีทีเอสมีลิฟต์เพียง 5 สถานี คือ หมอชิต สยาม สุขุมวิท อ่อนนุช แล้วก็ช่องนนทรี เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ผ่านไป 7 ปี ศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า กทม.ไม่ผิด เพราะตอนที่ กทม.เซ็นคำสั่งก่อสร้าง ยังไม่มีกฎหมายคนพิการ จึงแพ้คดีไป

            จนกระทั่งได้มีการอุทธรณ์อีก ปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี แต่ กทม. ดำเนินการล่าช้า ไม่เป็นตามระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งไว้ จึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยในศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจาก กทม.พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ไม่ได้มีเจตนาที่จะละเลยที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เพียงแต่ว่าประสบปัญหาต่างๆ ทำให้การติดตั้งล่าช้า จึงยื่นอุทธรณ์อีกครั้งต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้คนพิการที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับค่าเสียหายจาก กทม.ในที่สุด

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน