มพบ.แนะ AIA จ่ายค่าสินไหมผู้ทำประกัน

590609 saree
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live ของมูลนิธิฯ (www.facebook.com/fconsumerthai) เรื่องมูลนิธิฯ โต้ AIA เอาเปรียบผู้บริโภค กรณีผิดสัญญาไม่จ่ายเบี้ยประกันชีวิต

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการทดลองใช้เครื่องมือใหม่ หรือ Facebook Live ในการคุ้มครองผู้บริโภค และขอบคุณว๊อยซ์ ทีวี เนชั่นทีวี และไทยพีบีเอส ที่ให้เกียรติมาร่วมทำข่าวด้วย ตลอดจนผู้บริโภคที่มาร่วมให้ข้อมูลเรื่องบริษัทประกันจ่ายสินไหมต่ำกว่าที่โฆษณา

นางสาวสารี กล่าวว่า กรณีนี้ผู้บริโภคไม่ได้มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ โดยตรง มูลนิธิฯ ได้มีโอกาสเห็นเอกสาร ๒ ชิ้น ชิ้นแรกเป็นจดหมายปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมของบริษัทฯ และชิ้นที่สองเป็นจดหมายขอโทษบริษัทจากผู้ร้องเรียน ซึ่งการไม่เยียวยาผู้บริโภคในกรณีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคทำประกันชีวิตตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ยาวนานถึง ๗ ปี ซึ่งบริษัทฯ ก็มีโอกาสบอกเลิกสัญญาได้ทุกปี แต่ก็ปล่อยปละละเลย เหมือนกับฎีกาที่ ๒๔๔๗/๒๕๑๖ ที่ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ว่า “แม้ผู้เอาประกันจะได้ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จกับผู้รับประกัน แต่ถ้าปรากฏว่าผู้รับประกันได้รู้ข้อเท็จจริง หรือควรจะได้รู้ หากใช้ความระมัดระวังดังเช่นวิญญูชน สัญญาอันเป็นสมบูรณ์ การได้รู้ของผู้รับประกันภัย แสดงว่าผู้รับประกันภัยสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้เอาประกัน ดังนั้น จะยกเรื่องการไม่เปิดเผยข้อความจริง หรือแถลงเท็จของอีกฝ่ายมาอ้างให้เกิดประโยชน์แก่ตนภายหลังไม่ได้ กฎหมายไม่ยอมให้ยกความไม่รู้เป็นข้อแก้ตัว เพื่ออ้างสัญญาเป็นโมฆียะ ดังนั้นแค่ควรรู้ได้ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ด้วย”

กรณีนี้บริษัทได้ดำเนินการตัดสัญญาการเป็นตัวแทนเพื่อลงโทษในการขายที่ไม่ถูกต้อง และ คปภ.ส่งคดีเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน แต่ความรับผิดชอบของบริษัทฯ ไม่ควรจบเพียงยกเลิกตัวแทน แต่ต้องเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วย

"หากกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคคนอื่นๆ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้ ๑.ต้องคัดค้านการพิจารณาของบริษัท ๒.สามารถฟ้องคดีได้ภายใน ๒ ปีเนื่องจากเป็นสัญญาบริการ ๓.สามารถใช้สิทธิขอเงินคืน ซึ่งการขอเงินคืนเป็นสัญญาที่ไม่มีอายุความ ซึ่งมูลนิธิฯ อยากให้ AIA ทบทวนกรณีนี้ และเร่งจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค” นางสาวสารีกล่าว

เลขาธิการฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากเป็นกรณีประกันภัยอาวุโส บริษัทประกันไม่มีสิทธิยกข้ออ้างเรื่องไม่ตรวจสุขภาพ หรือแถลงเท็จในการจ่ายค่าสินไหม หากมีการทำประกันมานานกว่า ๒ ปี ต้องจ่ายเงินทุกราย ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องตรวจสอบกรมธรรม์ที่ได้รับว่ามีการระบุว่า เพื่อผู้สูงอายุหรือไม่ และหากเสียชีวิตก่อน ๒ ปี จะต้องได้รับเบี้ยประกันที่ชำระมาแล้วคืนพร้อมเงินเพิ่ม

 

พิมพ์ อีเมล