ศาลยกฟ้องรถตู้โฟตอนฟ้องผู้บริโภคเรียกค่าเสียหาย 5ล้าน

590329 actionneews
ศาลชั้นต้นยกฟ้องผู้บริโภคข้อหาหมิ่นประมาทบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด กรณีใช้สิทธิร้องเรียนหน่วยงานสคบ.และร้องเรียนสื่อมวลชน ว่าเป็นการหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท


วันนี้ (29 มีนาคม 2559)  เวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 713  ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก    ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถตู้ยี่ห้อโฟตอน จากประเทศจีน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริโภคจำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถตู้โฟตอน จำนวน 19 ราย  และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีก 1 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและแจ้งความเท็จ  หลังผู้บริโภคซื้อรถตู้ดังกล่าวมาใช้แล้วเกิดปัญหา ได้รับความเสียหาย และบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของรถ จึงนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยกับสาธารณชน  และแจ้งร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

ทั้งนี้ศาลได้ตัดสินยกฟ้องผู้บริโภคทุกราย เนื่องจากเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตน จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง

           นายทรงพล   พวงทอง   หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ กล่าวว่า  รู้สึกดีใจมาก และต้องขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยรู้สึกผิดหวังต่อการยื่นฟ้องของบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลส์ จำกัด ที่กล่าวหาว่าผู้บริโภคหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จ ทั้งๆ ที่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง และเจตนาเพื่อคุ้มครองสิทธิของตัวเองกับพวก และหวังว่าบริษัทฯ จะไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อเป็นการเคารพสิทธิของผู้บริโภค

          ด้าน นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า คำตัดสินของศาลทำให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้ทำผิด เพราะติชมโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามทำนองคลองธรรมของผู้บริโภค และไม่ได้ใส่ความเท็จเลย เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ มีหลักฐานอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น

          “สินค้าไม่ดี มีปัญหา เราก็ว่าตามความจริงว่ามันไม่ดีอย่างไร อย่าไปกล่าวหา ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำกล่าวที่ว่าร้องเรียนหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพัน ครั้ง” นายเฉลิมพงษ์กล่าวและว่า ผู้ประกอบการต้องนำสินค้าที่ทดสอบแล้วมาขาย ไม่ใช่ไม่เคยทดสอบในประเทศไทยเลยแล้วนำมาขาย และควรทำให้ได้อย่างที่โฆษณาไว้ เช่น มีศูนย์บริการ มีอะไหล่พร้อม โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องมีคุณธรรม ไม่ได้หวังแต่จะกอบโกยกำไรจากผู้บริโภค" นายเฉลิมพงษ์กล่าว

นายธนัช ธรรมิสกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ สัมภาษณ์ในฐานะผู้ดูแลเรื่องนี้ว่า คดีนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภค ซึ่งคดีนี้ได้ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาฯ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยช่วยประกันตัวในขั้นตอนการรับฟ้องและช่วยเหลือผู้เสียหาย

"แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องกลุ่มผู้บริโภค ก็ต้องติดตามดูว่าทางบริษัทฯ จะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ขอให้ผู้บริโภคอย่ากลัวที่จะลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรม และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับตัวผู้บริโภค จะต้องเก็บหลักฐานต่างๆ เช่น ภาพความเสียหาย ใบเสร็จรับเงิน เอกสารการติดต่อกับบริษัท บันทึกการติดต่อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสู้คดีเมื่อมีการฟ้องกลับ" นายธนัช กล่าว

พิมพ์ อีเมล