กลุ่มชุมชนชาว กทม. ทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขร่างผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ พร้อมยื่นข้อเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ PUD

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 3633

1170

ตัวแทนชุมชนผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าพบผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขร่างผังเมืองฉบับใหม่ หลังยื่นหนังสือคัดค้านไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พร้อมยื่นข้อเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการมาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือ PUD และ ขอให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองตีกรอบความชัดเจนในการอนุญาตการก่อสร้างอาคารสูงในโซนพื้นที่เขตสีต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทและผลกระทบต่างๆ ต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยที่จะตามมา


เมื่อวันที่ 29 พ.ย.62 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวแทนชุมชนผู้เสียหายจากการสร้างอาคารผิดกฎหมายในพื้นที่ กทม. 14 ชุมชน พร้อมตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามความคืบหน้าถึงการแก้ไขร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ พร้อมยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม 3 ข้อ โดยมีนายอาสา ทองธรรมชาติ ผู้อำนวยการส่วนผังเมืองรวม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมพูดคุยรับฟังข้อเสนอ และเป็นผู้แทนรับหนังสือ
 
1172
 
นายอาสา ทองธรรมชาติ ผู้แทนรับหนังสือ ได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถประกาศร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้นั้น เนื่องจาก ต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการผังเมืองและที่ปรึกษาชุดใหม่ ตาม พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะนำความเห็นจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมือง และเมื่อแก้ไขแล้วจึงจะดำเนินการปิดประกาศตามกำหนดระยะเวลา 90 วัน เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนอีกครั้ง
 
1171
 
ด้านนายสมชาย อามีน ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า “จากหนังสือการคัดค้านร่างผังเมืองฉบับเดิมที่เคยยื่นไปเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้มีข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่ ข้อเสนอที่ 1. ในการตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (PUD) ขอให้มีสัดส่วนตัวแทนจากภาคประชาชน หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วม ข้อเสนอที่ 2. ให้ผังเมืองฉบับใหม่ระบุพื้นที่บึงรับน้ำ จำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่มีการศึกษาไว้แล้วจำนวน 6 บึง ได้แก่ (1) บึงรับน้ำคลองคู้บอน (2) คลองบางชัน (3) คลองสามวา 1 (4) คลองสามวา 2 (5) คลองพระยาสุเรนท์ และ (6) คลองลำหม้อแตก ซึ่งสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อทำโครงการไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบึงรับนำบริเวณคลองคู้บอน เนื้อที่ 130 ไร่ และคลองบางชัน ที่ผ่านการประชาพิจารณ์แล้วและอยู่ในระหว่างการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน บริเวณทั้ง 6 บึงดังกล่าว ให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองระบุพื้นที่การใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่โล่งเพื่อการรับน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมในประเภท ล 4 หรือ ล 5 อีกด้วย และ ข้อเสนอที่ 3. ขอให้มีการนำร่างผังเมืองฉบับแก้ไข เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนมีการประกาศ 90 วัน"
 
1173
 
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอาคารผิดกฎหมายเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องไปพึ่งพากฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เช่น ปัญหาการทำรายงานผลการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เป็นเท็จ การจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเหตุเดือดร้อนจากการก่อสร้าง ฝุ่น มลพิษ และความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง หรือการร้องเรียนอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่สร้างผิดกฎหมาย แต่ยังพบว่าอาคารนั้นไม่ถูกระงับการใช้อาคาร จนทำให้ประชาชนต้องไปดำเนินการฟ้องคดี ดังเช่น อาคารโรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รื้อถอน แต่ยังพบว่ามีการเปิดใช้อาคารปกติอยู่ ซึ่งปัญหาต่างๆ ได้แจ้งให้หน่วยงานรัฐรับทราบแต่ไม่มีการแก้ไข เพราะยังมีเหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำๆ สาเหตุเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด และปัจจุบันยังพบการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า มาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือ PUD ที่ยังไม่พบว่ามีการควบคุมอย่างไร"
 
“ซึ่งหากมีการควบคุมและกำหนดหลักเกณฑ์ในมาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ไว้ในผังเมือง ก็จะเป็นการป้องกันความเสียหายของประชาชน และฝากถึงหน่วยงานรัฐ ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย” นางนฤมลกล่าว
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ตัวแทนชุมชน กทม. รวมตัวคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่

พิมพ์