ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งคิวรถตู้กับบขส. จ่าย 21 ล้านบาท เหตุวิ่งรถประมาท พร้อมกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ สร้างมาตรฐานบริการรถโดยสารสาธารณะ

bus3.9.62 7

กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสายจันทบุรี - กรุงเทพฯ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2  โดยศาลมีคำสั่งให้คิวรถตู้ร่วมกับบขส. จ่ายค่าความเสียหาย จำนวนกว่า 21 ล้าน และกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ โดยให้จ่ายจากค่าสินไหมทดแทนกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่ศาลกำหนด พร้อมขอบคุณทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ดูแลช่วยเหลือด้านคดีความ

 3 ก.ย. 62 ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ห้องพิจารณาคดีที่   ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนายเหียน หมดภัย กับพวก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ (ฟ้องเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ส่วนผู้โดยสารในรถกระบะเสียขีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย

สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 1 และ 2 คือ ทายาทของคนขับ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 20,780,000 บาท (ยี่สิบล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (2 มกราคม 2560) ส่วนสำคัญ คือ ศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับโจทก์แต่ละครอบครัวๆละ 500,000 บาท เพิ่มเติมจากค่าเสียหายตามคำพิพากษาอีกด้วย

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต จำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นคิวรถตู้คันเกิดเหตุ และบริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงินรวม 21,350,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ศาลได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ โดยให้จ่ายจากค่าสินไหมทดแทนกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่ศาลกำหนด เนื่องจากเห็นว่า บริษัทขนส่งจำกัด มีหน้าที่กำกับดูแลให้เจ้าของรถร่วมและพนักงานรถรับร่วมถือปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลการเดินรถอย่างเคร่งครัด แต่คงปล่อยปละละเลยให้เจ้าของรถร่วมควบคุมดูแลกันเอง จนทำให้คนขับขับรถติดต่อกันหลายเที่ยวจนร่างกายอ่อนล้า โดยไม่สนใจความปลอดภัยของผู้โดยสาร

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เราเคารพในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยืนยันให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับผู้เสียหายทุกคนในคดีนี้

“เราอยากเห็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีอื่นๆเหมือนคดีนี้ ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่รวดเร็วและสั่งให้คิวรถตู้และบริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มเติมจากคำพิพากษา ที่สำคัญอุบัติเหตุครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหามาตรฐานความปลอดภัยรถตู้โดยสาร ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและการชดเชยเยียวยาที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันให้ความสำคัญและมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง รวมถึงการผลักดันให้เกิดกองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนด้วย” นายคงศักดิ์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล