เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เร่ง กทม. แก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 4323

25610430 180430 0106

 

รณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคไทย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จี้ กทม. ต้องรีบแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

           30 เมย. 2561  วันสิทธิผู้บริโภคไทยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนอนุกรรมการด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถาม กรณีการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)  เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาลรับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน รวมทั้งให้ประชาชน สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยที่ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม และสามารถจ่ายได้   

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินท์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานที่มีงานวิจัยสำรวจชี้ชัดว่ากว่าร้อยละ 90 เป็นตู้เถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ผ่านมา 2 ปีแล้วหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่แก้ไขปัญหา

25610430 180430 0081

 

“จากการศึกษาวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทำในพื้นที่ กทม. 18 เขต รวม 855 ตู้ พบว่า 1. มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย ไม่มีใบอนุญาตฯ ร้อยละ 91.76 2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 เป็นต้น และจัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยว เช่น กรุงเทพมหานคร, สำนักอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้น ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร จนมาปี 2560 เครือข่ายฯ ได้ทำการสำรวจตู้นำดื่มหยอดเหรียญซ้ำ โดยดำเนินการในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต พบว่าปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังคงมีตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ กว่าร้อยละ 90 เครือข่ายจึงติดต่อและส่งข้อมูล รวมถึงข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้งแต่ไม่ได้ความร่วมมือ จึงตัดสินใจทำหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 เมษายน 2561 เพื่อเรียกร้องให้ กทม. เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตู้น้ำดิ่มหยอดเหรียญ และรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในวงกว้าง”

 

          “หลังจากส่งข้อมูลปี 2560 และข้อเสนอแนะไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง กลับไม่ได้รับการตอบรับและได้รับคำตอบว่าให้ติดต่อไปยัง กทม. (กรุงเทพมหานคร) ซึ่งหน่วยงานที่สูงกว่า แต่เมื่อส่งจดหมายสอบถามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไปยัง กทม. ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้”

          ทั้งนี้ ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร คอบช. และ มพบ.มีดังนี้

1) ต้องสั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต บังคับใช้ทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในเขตกรุงเทพมหานครว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้นยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ให้เรียกมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อสืบหาเจ้าของตู้ได้ หรือไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที

3) สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องทำสติ๊กเกอร์วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง และวันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำ และให้ผู้ประกอบกิจการลงบันทึกทุกครั้งที่หน้าตู้ ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน

4) ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

 

         ทั้งนี้มีนางสาวสิริกาญจน์ สุยวณิชย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบเรื่องราวร้องเรียน สำนักเลขาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับหนังสือแทนผู้ว่า พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

          ด้านเครือข่ายผู้บริโภค แจ้งว่าภายใน 15 วัน จะลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำดื่มซ้ำอีกครั้ง และภายใน 30 วัน จะฟังคำตอบจากกรุงเทพมหานคร อีกครั้งที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

 25610430 180430 0044           25610430 180430 0095

พิมพ์