‘ฉลาดซื้อ’ สุ่มตรวจ ‘ขนมจีน’ รอบสอง ยังพบสารกันบูดปนเปื้อน 100 % พบ 2 ยี่ห้อเกินมาตรฐาน แนะเลือกบริโภคที่มีสารกันบูดน้อย พร้อมจี้ ‘อย.’ เข้มงวดมากขึ้น

kanomchine a2

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบสารกันบูดตกค้างในขนมจีนรอบสอง 100% ทั้ง 17 ตัวอย่างปนเปื้อนสารกันบูด โดยมี 2 ตัวอย่าง คือ สธจ โรงงานโสธรเจริญ และชลนิศา พบปริมาณการตกค้างสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เคยทดสอบสารกันบูดรอบแรกเมื่อปี 2559 ผลทดสอบพบการปนเปื้อนของสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก 100 % ทั้ง 12 ตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้

k monrudee18JUL2017

 

          น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสอบเส้นขนมจีนทั้งหมด 17 ยี่ห้อ ตามแหล่งซื้อต่างๆ โดยเก็บตัวอย่างเส้นขนมจีนที่เคยทดสอบเมื่อคราวที่แล้ว จำนวน 8 ตัวอย่าง และเพิ่มเติมตัวอย่างในการสุ่มทดสอบอีก 9 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง พบว่า ขนมจีนทุกยี่ห้อมีการใส่สารกันบูด แต่มีขนมจีน 2 ยี่ห้อที่มีการใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานสูงถึง 1274.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ.2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) สำหรับอาหารจำพวกพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันว่า ต้องมีปริมาณไม่เกิน 1,000 มก./กก.

 

 

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบผลการทดสอบปริมาณกรดเบนโซอิก (มิ.ย 2560) กับ (ก.พ. 2559)

ยี่ห้อ สถานที่เก็บ ผลทดสอบกรดเบนโซอิก (มก./กก.) การแสดงฉลากวัตถุกันเสีย
มิ.ย. 2560 ก.พ. 2559
ไม่มียี่ห้อ ตลาดพระประแดง 45.96 - ไม่แสดง
ไม่มียี่ห้อ ตลาดคลองเตย 63.21 - ไม่แสดง
นิดา ตลาดคลองเตย 91.30 - ไม่แสดง
ไม่มียี่ห้อ ตลาดพระประแดง - 147.43 ไม่แสดง
ขนมจีนแปดริ้ว แมวทอง ตลาดอมรพันธ์ - 197.27 ไม่แสดง
มงกุฎแปดริ้ว ตลาดสี่มุมเมือง 150.53 169.94 ไม่แสดง
ฉวีวรรณ ห้างแมคโคร สาขาลาดพร้าว 168.33 321.95 ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอต (INS NO.211)
นคร-ยก ตลาดสี่มุมเมือง 177.48 268.41 ไม่แสดง
ช้อนคู่ ตลาดยิ่งเจริญ 314.52 199.63 ไม่แสดง
นางยาง-เพชรบุรี ตลาดคลองเตย 354.96 - ไม่แสดง
หนองชะอม ตลาดพระประแดง 425.47 - ไม่แสดง
เก๋ขนมจีน ตลาดบางแค - 509.18 ไม่แสดง
ตาอู๋ ห้างบิ๊กซี สาขารัชดา 426.95 549.12 ไม่แสดง
เส้นสวย ตลาดบางแค 476.28 - ไม่แสดง
วังแก่ง ตลาดพระประแดง 505.97 - ไม่แสดง
นิลเพชร ตลาดบางแค 570.67 - ไม่แสดง
ดอนเมือง ตลาดคลองเตย 720.44 206.67 ไม่แสดง
ดาว ตลาดยิ่งเจริญ 768.31 1121.37 ไม่แสดง
ไม่มียี่ห้อ ตลาดสะพานขาว - 1115.32 ไม่แสดง
ชลนิศา ตลาดพระประแดง 1114.24 - ไม่แสดง
สธจ โรงงานโสธรเจริญ ตลาดคลองเตย 1274.55 462.36 ไม่แสดง


            น.ส.มลฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเกินกว่า 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. เช่น หากน้ำหนักตัว 45 กก. ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 45x5 = 225 มิลลิกรัม/วัน เพราะการได้รับสารกันบูดมากเกินไปสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ คือ 1. พิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับปริมาณสูง เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออกและหมดสติในที่สุด 2. พิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณไม่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับและไตลดลง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

k saree 18JUL2017           

 

            ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า 2 ตัวอย่างที่พบสารกันบูดเกินมาตรฐานกำหนด คือ สธจ โรงงานโสธรเจริญ ตลาดคลองเตย และ ขนมจีนยี่ห้อชลนิศา ตลาดพระประแดง พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานปริมาณ 1,274.55 มก./กก. และ 1,114.24 มก./กก. ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับล่าสุด (ฉบับที่4) อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./กก. นั้นทั้ง 2 ตัวอย่างถือเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับ 50,000 บาท การแสดงฉลากยังพบว่าไม่มีการแสดงฉลากที่ครบถ้วนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดให้ต้องแสดงข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหารลงในฉลาก โดยหากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับ 30,000 บาท จากการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้พบเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่แสดงข้อมูลดังกล่าวไว้บนฉลากหรือภาชนะบรรจุ ได้แก่ เส้นขนมจีนยี่ห้อ ฉวีวรรณ เก็บตัวอย่างที่ห้างแมคโคร สาขาลาดพร้าว ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอต (INS NO.211)สำหรับการแสดงฉลากยังมีปัญหาเช่นเดิม

           สำหรับภาพรวมของผลการทดสอบการปนเปื้อนของสารกันบูดในเส้นขนมจีนครั้งนี้พบว่าเส้นขนมจีนยังเป็นอาหารที่มีสารกันบูดตกค้าง และมีค่าเฉลี่ยของปริมาณสารดังกล่าวอยู่ที่ 450.53 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในการสุ่มทดสอบครั้งที่แล้วคือ 439.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม             

           นางสาวสารี กล่าวต่อว่า ทำให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่าน อย.ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไข จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และเรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุเลย

           ดังนั้นศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้อย.เร่งดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบปรับโรงงานผลิตขนมจีน  และผู้จัดจำหน่วยอาหารผิดมาตรฐาน และควบคุมเรื่องภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน  การแสดงฉลากสินค้าที่ไม่ครบถ้วนชัดเจน อย่างจริงจังเพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

  > อ่านข้อมูลผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ ฉลาดซื้อออนไลน์: https://goo.gl/CHEsfM

  สอบถามเพิ่มเติม คุณชนิษฎา โทรศัพท์ 02 248 3737 ต่อ 128 หรือ 132

พิมพ์ อีเมล