มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอยกเลิกการตรากฎหมาย ชี้อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.77

600602 energy

ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ..... และกำหนดให้มีเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศเพียงครั้งเดียว โดยจัดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 250 คนเท่านั้น

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มอบหมายให้นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม เป็นผู้แทนเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ และผู้แทนทั้งสองได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประชาชนว่า ไม่เห็นด้วยต่อการยกร่างกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและเสนอให้ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันโดยเร็ว

ทำไมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมายกองทุนน้ำมันฯ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาล อาจมีเนื้อหาวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงไม่เห็นด้วยต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาลทั้งฉบับซึ่งรวมทั้งหลักการ เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้ และขอให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยโดยเร็ว

กองทุนน้ำมันฯตั้งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ กระทรวงพลังงานดิ้นยกระดับตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้กองทุนน้ำมันฯไม่ถูกยุบ

การที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516

ต่อกรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยมีมติเสนอเห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว และได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547

โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ดังกล่าวนั้น เมื่อพิจารณาพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

การมีคำสั่งนายกฯดังกล่าวนี้ จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการเรียกเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯตามคำสั่งนายกฯที่กำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยไม่นำส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 12 รวมถึง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 ด้วย

ดังนั้น การบริหารกองทุนพลังงาน ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เนื่องจากเมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน พ.ศ. 2556 ที่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน มีหน้าที่จัดหาเงินมาดำเนินการเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ พร้อมดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการบริหารกองทุนพลังงาน เมื่อกองทุนน้ำมันฯ จัดตั้งและดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ การจ่ายเงินกองทุนน้ำมัน การบริหารกองทุนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

นี่คือเหตุผลสำคัญที่กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องให้มีการยกระดับกองทุนน้ำมันที่ไม่ถูกกฎหมายนี้ ด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กองทุนน้ำมันฯได้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยาวนาน และยังมีการเพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่เข้าไปอีก ให้สามารถใช้เงินกองทุนเพื่อไปสนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมันมทางยุทธศาสตร์และการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกิจการน้ำมันสำเร็จรูปได้อีกด้วย

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนี้ยังดำเนินการอยู่ โดย ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2560 มีฐานะกองทุนสุทธิ 39,942 ล้านบาท

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ ไม่มีความจำเป็นในการตรากฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

แม้ว่าการแก้ปัญหาการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จะกระทำได้โดยการตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่การที่ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาลกำหนดให้มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน 5 ข้อซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมาย และกำหนดวงเงินสะสมของกองทุนน้ำมันไว้ในมาตรา 26 สูงถึงสี่หมื่นล้านบาท และกรณีที่กองทุนมีจำนวนเงินไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถรวมได้ถึงกรณีที่กองทุนมีสถานะติดลบดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังให้กองทุนสามารถกู้ยืมเงินได้ถึงสองหมื่นล้านบาท ว่าเป็นความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เห็นด้วยและเห็นว่า เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคและเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อันเป็นที่มาของความเห็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคแรกได้

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจับพิรุธ ข้ออ้างการให้มีกองทุนน้ำมันฯต่อไป

วัตถุประสงค์ที่ 1 อ้างเพื่อ “รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง”

มูลนิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า การอ้างถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและส่งผลกระทบต่อระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ จึงต้องมีกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ นั้นเป็นเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในข้อ 6.9 เรื่องนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและ ผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่ จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย

อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยให้ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันในข้อนี้จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้วและเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน ด้วยเหตุผลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) กรณีของราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ยกเลิกการใช้ราคาแบบคงที่และเปลี่ยนมาใช้ราคาน้ำมันแบบลอยตัวแล้วทั้งราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซล โดยให้ลอยตัวตามราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์และยังให้บวกค่าพรีเมียมเสมือนว่ามีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอีก ทั้งๆที่สถานการณ์การผลิตน้ำมันในประเทศไทยอยู่ในลักษณะผลิตล้นเกินความต้องการจนต้องมีการส่งออกมานานแล้ว 
การใช้เงินกองทุนน้ำมันที่ผ่านมาจึงมิได้ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลแต่อย่างใด และราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซลก็ปรับเปลี่ยนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

(2) กรณีราคาก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม

จากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ทำให้มีการยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ระดับ 332.7549 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ

ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีทั้งระบบ ซึ่งเริ่มตั้งเดือนมกราคม 2560 จะเปิดเสรีเฉพาะส่วนการนำเข้า แต่ยังคงควบคุมราคาโรงกลั่นน้ำมันและราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยยกเลิกการชดเชยส่วนต่างราคาจากการนำเข้า รวมถึงยกเลิกระบบโควตาการนำเข้าของประเทศ และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซ LPG ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน

ในระยะที่ 2 จะเป็นการเปิดเสรีทั้งระบบ โดยยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา เปิดเสรีการนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์ รวมถึงยกเลิกการประกาศราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อตลาดมีความพร้อมด้านการแข่งขันที่เพียงพอ ทั้งในส่วนการผลิตและจัดหา ไม่เกิดการสมยอมในการตั้งราคา ภายใต้การพิจารณาของกรมธุรกิจพลังงาน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพช. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาด LPG ของประเทศว่า “การค้า LPG ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกันนี้ประมาณ 40 ราย ถือได้ว่ามีการแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบแล้ว และภาครัฐมีกลไกการกำกับดูแลอย่างชัดเจนผ่าน กบง. และกรมธุรกิจพลังงาน...”

ดังนั้น การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบในระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในไม่ช้านี้เพราะตลาดมีความพร้อมแล้ว ด้วยแนวนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาก๊าซ LPG อีกต่อไป เพราะจะมีการยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา เปิดเสรีการนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์ รวมถึงยกเลิกการประกาศราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ และราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคา LPG ตลาดโลกเฉกเช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลที่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์

(3) กรณีราคาก๊าซ NGV

ปัจจุบันราคาก๊าซ NGV รัฐบาลได้ใช้นโยบายราคาลอยตัวเช่นเดียวกับราคาน้ำมันและราคาก๊าซ LPG โดยยึดแนวทางตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่เห็นชอบกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง ทำให้ราคาก๊าซ NGV มีการปรับเปลี่ยนขึ้นลงมาโดยตลอด ปัจจุบัน ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ถูกปรับราคามาอยู่ที่ 13.05 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้กองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา NGV อีกแล้ว

(4) ปัจจุบันภาครัฐมีกลไกกำกับดูแลความมั่นคงทางพลังงานด้านราคาอยู่แล้ว

เช่น พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 6(2) ที่ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ รวมทั้ง พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ราคาเพื่อไม่ให้สินค้ามีราคาสูงหรือต่ำเกินสมควร เป็นต้น ที่สำคัญหากเกิดภาวะวิกฤตขาดแคลนพลังงานขึ้นจริง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งที่จำเป็นเป็นคราวๆ ไป ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 ได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด ด้วยรัฐบาลใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดไปหมดแล้ว และรัฐบาลยังมีกฎหมายฉบับอื่นที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงทางพลังงานด้านราคาอยู่แล้ว

วัตถุประสงค์ที่ 2 อ้างเพื่อ “สนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้”

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลดังนี้

(1) การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาด้านราคาของเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซลและเอทานอล ต่างมีราคาที่แพงกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ และบางครั้งอาจแพงกว่าราคาเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดสำคัญของโลกด้วย ชี้ให้เห็นว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงจนไม่สามารถแข่งขันราคากับประเทศอื่นได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเชื้อเพลิงชีวภาพของเกษตรกรและโรงงานผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้ลดต่ำลงมา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันราคาตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริงได้

การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพถือเป็นการช่วยเหลือที่ปลายน้ำ และเป็นการบิดเบือนราคา ทำให้ราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามที่ กพช. ได้กำหนดแนวทางไว้ เป็นการใช้เงินที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันอีกชนิดหนึ่งไปจ่ายชดเชยให้กับน้ำมันที่ผสมไบโอดีเซลและเอทานอล ยิ่งผสมมากก็ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยมากขึ้น อีกทั้งยังไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ลดต้นทุนลงมาได้ ก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ สร้างภาระและเกิดความไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกรที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกองทุนน้ำมันฯ

การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมและเป็นภาระแก่ประชาชน ไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาพลังงานของตนเองได้ในระยะยาว อีกทั้งเงินที่จ่ายชดเชยไปนี้ยังมีข้อสงสัยที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบว่าตกไปถึงเกษตรกรอย่างเต็มที่ทั่วถึงและเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนหลงผิดคิดว่าเชื้อเพลิงชีวภาพมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นอันถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคประการหนึ่งด้วย

(2) การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่งนั้น มีความจำเป็นต่อประเทศเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาพลังงานของตนเองได้อย่างแท้จริงลดการนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศ แต่ไม่ควรอยู่ภายใต้การดำเนินการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ที่ไม่ได้มีภารกิจในด้านนี้เป็นการเฉพาะ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบายและกฎหมายที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียนอยู่ อันจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการแต่งตั้งคณะกรรมการและจัดตั้งสำนักงาน รัฐบาลจึงควรให้ความร่วมมือและเร่งรัดให้มีการตราพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนขึ้น เพราะปัจจุบันทิศทางพลังงานของโลกยุคใหม่เป็นทิศทางของการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนไปแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพและแต่งตั้งกรรมการหรือจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นภาระต่อประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

วัตถุประสงค์ที่ 3 อ้างเพื่อ บรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

ปัจจุบันในโครงสร้างราคาน้ำมัน รัฐบาลเก็บเงินในลักษณะภาษีและเงินเข้ากองทุนด้วยกัน 4 ช่องทาง คือ ภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเห็นว่ารัฐบาลมีรายได้จากเงินภาษี 2 ช่องทางคือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากพิจารณาเฉพาะภาษีสรรพสามิตในราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน(ยังไม่รวม LPG และ NGV) พบว่ารัฐบาลมีรายได้จากภาษีส่วนนี้เฉลี่ยวันละ 514.6 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 15,438 ล้านบาท หรือเท่ากับ 185,256 ล้านต่อปี ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มอีก จะเห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอที่จะนำมาสนองนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสได้โดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

การที่รัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันซึ่งเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันมาช่วยเหลือกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำมันที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง จึงเป็นการไม่สมควรเป็นการเบียดบังประชาชน และเป็นการสร้างภาระซ้ำซ้อนให้กับประชาชนมากขึ้น

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยข้ออ้างว่าจะนำเงินมาช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือด้อยโอกาส เพราะรัฐบาลสามารถนำรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในราคาน้ำมันมาดูแลช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือด้อยโอกาสได้

วัตถุประสงค์ที่ 4 อ้างเพื่อ สนับสนุนการลงทุนในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน 
ประเด็นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในด้านปริมาณนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเลย เพราะการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์นั้นถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมัน

ทั้งนี้มีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกลั่นและค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปโดยเหมาะสม เกี่ยวกับคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงและการให้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ มีปริมาณพอควร เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน ประเทศไทยจึงเริ่มสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง โดยภาคเอกชน (ผู้ค้าน้ำมัน) ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา

ในอดีตรัฐบาลเคยมีประกาศปรับลดและเพิ่มอัตราสำรองตามความเหมาะสมของ สถานการณ์ และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติให้ลดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายให้เหลือจำนวนวัน สำรองประมาณ 25 วัน โดยแบ่งเป็นอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 6 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 จากเดิมที่มีการสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราสำรองร้อยละ 6 เท่ากัน

นอกจากนี้ภาครัฐยังมีเครื่องมือทางกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลที่เพียงพอและชัดเจนอยู่แล้วในการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น มี พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 และมี พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำกับดูแลให้มีการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน อีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่ 5 อ้างเพื่อ สนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อประโยชน์ แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเบียดบังและเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนด้วยการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือจะต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเติมอีก รวมทั้งยังให้อำนาจแก่กองทุนในการกู้ยืมเงินได้อีกสองหมื่นล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนอย่าหนักหนาสาหัสและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนมากจนเกินควร

ปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้จากกิจการพลังงานในหลายลักษณะ คือจากภาษีน้ำมัน จากเงินรายได้จากการถือหุ้นในกิจการพลังงานร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในรูปแบบของค่าภาคหลวง เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นับแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท และอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหากมีการปรับเปลี่ยนระบบการสำรวจและผลิตเป็นรูปแบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบจ้างบริการ ซึ่งรัฐบาลอาจนำรายได้ส่วนนี้ไปสนับสนุนการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนได้ โดยจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อให้ดำเนินการแทนรัฐ หรือรัฐอาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเองโดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียก่อน ไม่ควรที่จะสร้างภาระอันซ้ำซ้อนให้กับประชาชนด้วยการจัดตั้งและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

ด้วยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯที่หมดความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาแต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นเงินสะสมให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่าสี่หมื่นล้านบาท อันเป็นการช่วยลดภาระแก่ประชาชนทั้งประเทศ และยังช่วยทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนต้นทุนแท้จริงหรือสอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้นอันเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในข้อ 6.9 เรื่องนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและ ผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยอย่างแท้จริง

 

รายงานข่าวโดย อิฐบูรณ์  อ้นวงษา

พิมพ์ อีเมล