มพบ.เผย 3 ปี ยอดร้องเรียนรถ 239 ราย หลายปัญหาเสี่ยงชีวิต

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 2830

600316 news1

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ตั้งแต่ปี 2556 – 2559 มีสถิติร้องเรียนมาตรฐานรถยนต์เข้ามา จำนวน 239 กรณี แนะผู้บริโภคเก็บหลักฐานทั้งการซ่อมและการร้องเรียน เสนอบริษัทแก้ไขปัญหา



narumon16 มี.ค. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าสถิติร้องเรียนด้านมาตรฐานรถยนต์ส่วนบุคคล ที่ร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2556 – 2559 จำนวน 239 กรณี ปัญหาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้องเรียน เช่น อาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ เกียร์พัง เวลาเร่งเครื่องรอบขึ้นแต่ความเร็วไม่ขึ้น เครื่องยนต์ร้อนและมีเสียงดังผิดปกติ คันเร่งค้าง พวงมาลัยล็อค รถมีกลิ่นและเขม่าควันเข้ามาในห้องโดยสาร และถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

“เมื่อผู้บริโภคพบว่ารถใหม่มีปัญหา ควรรีบนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของรถยนต์ ให้ดำเนินการแก้ไข อย่าทนใช้หรือพยายามแก้ไขเอง และเก็บหลักฐานการเข้าซ่อมโดยให้ช่างระบุอาการเสียในใบรับรถก่อนซ่อมและหลังซ่อมว่าดำเนินการอย่างไรบ้าง พร้อมขอทำสำเนาเอกสารเก็บไว้ หากความผิดปกติยังเกิดขึ้นและมีการซ่อมหลายครั้ง ควรเรียกให้ผู้จำหน่ายรับผิดชอบ ด้วยการทำเป็นหนังสือบอกกล่าว โดยระบุความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น และให้บริษัทรับผิดชอบ โดยเฉพาะอาการชำรุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ หากเสนอให้บริษัทเปลี่ยนรถ หรือจะขอเงินคืน ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่นภายใน 7 วันหรือ 15 วันนับแต่ได้รับจดหมาย ซึ่งการส่งหนังสือควรดำเนินการถึงผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย และไฟแนนท์รถยนต์ที่เช่าซื้อ รวมถึงหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นแบบจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เพื่อให้มีหลักฐาน และแน่ใจว่ามีผู้รับแน่นอน หากการเจรจากับบริษัทด้วยตนเองไม่เป็นผล สามารถร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อให้ช่วยเหลือดำเนินคดีกับบริษัท ได้ หรือสามารถดำเนินการฟ้องคดีผู้บริโภคได้” นางนฤมลกล่าว

พร้อมกล่าวเสริมว่า การรับผิดของผู้ประกอบการ ทำเพียงการซ่อมตามเงื่อนไขประกัน หรือขยายระยะเวลารับประกันเพิ่มจากเดิม ซึ่งยังไม่แก้ไขปัญหาโดยตรงให้กับผู้บริโภคจึงเกิดการรวมตัวของผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์รุ่นเดียวกัน ออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ ผ่านสื่อ

“การสะท้อนปัญหาโดยผู้บริโภคถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะแก้ไขและพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ควรจะที่รับฟังและแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค หากมัวแต่นิ่งเฉยจะกลายเป็นผลเสียมากกว่า” หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าว

อนึ่งกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเรื่องขอการซื้อขาย ตาม ป.พ.พ มาตรา 472 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่” อย่างไรก็ตามเมื่อมีความชำรุดเกิดขึ้นไม่ควรปล่อยไว้ หรือโทรปรึกษาได้ที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02 – 2483737

พิมพ์