องค์กรผู้บริโภคกระทุ้ง อย.หยุดเดินตาม “ประชารัฐ” ชี้อาจแทรกแซง-ทำลายสิทธิผู้บริโภค

press 150859 004 cover web
15 ส.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.)  ยื่นหนังสือคัดค้าน อย. ให้หยุดการพิจารณาปรับแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 367 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ให้อย. เดินหน้าใช้ประกาศฉลากรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องมีการปรับแก้ ตามที่ “ประชารัฐ” เสนอ เพื่อปกป้องสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค

         จากการที่ประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างในเอกสารว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะ มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งภายหลังมีการปรับข้อเสนอเป็นให้แก้ไขประกาศฯ แทน และได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการแสดงฉลากอาหาร ของ อย. เพื่อให้มีการพิจารณาปรับแก้ประกาศฯ ฉบับที่ 367 เรื่อง การแสดงฉลากฯ ในวันนี้ และ คอบช. ได้มีการแถลงข่าวสนับสนุนให้ อย. เดินหน้าใช้ ประกาศฯ ฉบับที่ 367 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 59 นั้น

press 150859-002


         นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการ คอบช.
กล่าวว่า ประกาศฯ ฉบับที่ 367 มีความก้าวหน้าในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก โดย มีการเพิ่มเติมการให้ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร การแสดงรายการวัตถุเจือปนอาหารตามกลุ่มหน้าที่ซึ่งการแสดงนี้ครอบคลุมถึง วัตถุเจือปนอาหารที่ติดมากับวัตถุดิบที่ใช้การผลิตด้วย การกำหนดให้แสดงชื่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงประเทศที่ผลิต การกำหนดขนาดอักษรในการแสดงฉลากให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ฉลากเพื่อให้ฉลาก สามารถอ่านได้ ซึ่งข้อปรับปรุงเหล่านี้ เป็นการปรับปรุงจากปัญหาต่าง ๆ ที่ อย. พบเจอมาในอดีต โดยได้ดำเนินการภายใต้แนวทางของมาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากอาหารของประเทศไทย ดังนั้น หากคณะอนุฯ ของ อย. ชุดนี้ มีการพิจารณาปรับแก้ตามข้อเสนอของ ประชารัฐ ที่โดยรวม เสมือนจะให้กลับไปปฏิบัติแบบประกาศฯ ฉบับเดิม (194) นั้น จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง อย่างรุนแรง อาจเป็นการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ทั้งใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522(ข้อ 1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ) และเป็นสิทธิผู้บริโภคสากล (ข้อ 2 สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร : The Right to be Informed) ทำให้เข้าข่ายทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง คณะอนุฯ ชุดนี้ของ อย. จักต้องระวังและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนว่าสมควรปรับแก้ประกาศฯ ตามที่ “ประชารัฐ” เสนอมา หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทางฝั่งภาคประชาชนมีความเห็นว่า สมควรเดินหน้าบังคับใช้ประกาศฯ ฉบับที่ 367 นี้ โดยไม่ต้องมีการปรับแก้

press 150859-003


         นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า อย. กำลังทำให้เกิดการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานขึ้น ในการพิจารณาดำเนินงานภายใต้ข้อเสนอของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แตกต่าง กัน ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภายใต้การดำเนินงานของ คอบช. ซึ่งเป็นภาคประชาชน เคยส่งหนังสือให้ อย. พิจารณาปรับแก้ ประกาศฯ เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ตั้งแต่ปลายปี 2558 บัดนี้ผ่านมาเกือบ 9 เดือน อย. ดำเนินการแค่ทำหนังสือขอข้อคิดเห็นการแสดงฉลากของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ไปยังหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กับ ประเด็นนี้ การแก้ไขการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ ที่ “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นกลุ่มของภาคธุรกิจ ได้เรียกร้องให้มีการปรับแก้ กลับใช้เวลาแค่หนึ่งเดือนก็จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ด้านฉลากเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีการพิจารณาปรับแก้ตามข้อเรียกร้อง การกระทำเช่นนี้ นำมาซึ่งคำถามว่า อย. ดูแลใครกันแน่ระหว่างผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป กับ ผลประโยขน์ของภาคธุรกิจ   

press 150859-005นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตามที่คุณพงษภัทร กล่าวไปแล้ว ดูเหมือนว่า อย. จะเอาใจภาคธุรกิจจนทำให้การทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งสำหรับกรณีนี้กลับกลายเป็นการถอยหลังลงคลองเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้น อย.จะต้องทบทวนบทบาทของตนเองให้ดีว่าภารกิจของตนอยู่ตรงไหนกันแน่

นางสาวสารี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากของ คอบช. เมื่อระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 ที่ระบุว่าร้อยละ 84 มีการปรับแก้การแสดงฉลากตามประกาศฯ ฉบับที่ 367 แล้ว ชี้ให้เห็นว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่จริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศ ฯ 367 โดยไม่ต้องมีการปรับแก้ และให้มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อนการจำหน่าย (pre-marketing) และหลังการจำหน่าย (post-marketing) อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และให้มีการรายงานผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต่อสาธารณะให้รับทราบด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าของตน ทั้งนี้หากต้องมีการปรับแก้ประกาศ สธ. ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฉลากอาหาร ขอให้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคของ ประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

press 150859-006


ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ตัวแทนรับมอบหนังสือจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาค ประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พร้อมรับปากว่าจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมในเรื่องที่ยังไม่ ชัดเจน และจะพิจารณาให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

     ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จะไม่ปล่อยให้ มีการทำลายการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด

อนึ่ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้ฉลากเดิมที่เหลืออยู่ต่อไป แต่ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งวันสุดท้ายของการใช้ฉลากเดิมคือวันที่ 4 ธันวาคม 2559

พิมพ์ อีเมล