มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องศาลปกครองสูงสุด ไต่สวน ปตท. โอนทรัพย์สินไม่ครบ ยังขาดกว่า หนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท

สารบัญ

 

 

 

ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ฟ. ๔๗/๔๙ และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๓๕/๕๐ ระหว่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม ๕ คน ผู้ฟ้องคดี กับคณะรัฐมนตรี กับพวกรวม ๔ คน ผู้ถูกฟ้องคดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ขอยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้โปรดทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่จะกล่าวต่อไปนี้
       
       ข้อ ๑. คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐
       

       ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ให้ยก
       
       เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อ้างว่าศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามสำเนาหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑)
       
       ตามสำเนาคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูง สุด ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ ที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับจากศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๒ ไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อ้างแต่อย่างใด
        
       คงมีสาระสำคัญเพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้โอนทรัพย์สินเพียงเฉพาะที่ดินเวนคืนมูลค่า ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินมูลค่า ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาท และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเพียง ๓ โครงการ (โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย) โดยมีมูลค่าระบบท่อจำนวน ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งสิ้นเพียง ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดี ได้ยกเป็นตัวอย่างในคำฟ้องเท่านั้น
        
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยังมิได้แบ่งแยกให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา ที่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด
       
       *** ข้อ ๒. ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือขอรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินใน ฐานะที่ต้องเป็นหน่วยงานตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ต้องโอนคืนกระทรวงการคลัง ซึ่งตามรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๔ (ก่อนแปรรูป) พบว่า บริษัท ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังแล้วรวม ๑๖,๑๗๖,๒๒ ล้านบาท แต่บริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยกทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลังจำนวน ทั้งสิ้น ๓๒,๖๑๓.๔๕ ล้านบาท (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๒)
       
       ข้อ ๓. ด้วยความเคารพต่อศาล ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึง ๔ ยังมิได้ดำเนินการตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน ยังมิได้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อออกจากผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๔ กลับไปเป็นของรัฐโดยครบถ้วน
       
       ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า นอกจากทรัพย์สินกลุ่มที่ได้มาหรือก่อสร้างขึ้นก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ (ก่อนแปรรูป) ตามรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ทรัพย์สินอันประกอบด้วยสิทธิเหนือพื้นดินเอกชนที่ได้ใช้อำนาจมหาชนไปรอน สิทธิมา ในช่วงหลังวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ (หลังแปรรูป) เพิ่มเติมจากช่วงก่อนแปรรูป
        
       ตลอดจนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ก่อสร้าง เพิ่มเติมขึ้นใหม่ในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเดิมก่อนแปรรูป และที่ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินรอนสิทธิใหม่หลังแปรรูป รวมทั้งที่ได้ก่อสร้างในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งบนบกและใน ทะเล รวมมูลค่าอีก ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท ก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย รวมมูลค่าทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่บริษัท ปตท. ต้องแบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งในส่วนก่อนแปรรูปและหลังแปรรูป ทั้งสิ้น ๒๐๕,๘๙๑ ล้านบาท
       
       เนื่อง จากเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ด้วยเหตุเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของ รัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐจึงต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดัง กล่าวกลับไปเป็นของรัฐ
       
       ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อ ส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่น ท่อส่งก๊าซ ตั้งแต่ฐานขุดเจาะในทะเลอ่าวไทย ท่อส่งก๊าซจากชายแดนไทยพม่า ระบบท่อส่งและจัดจำหน่ายจากอ่าวไทยไปยังประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ล้วนเป็นกิจการค้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการเช่นเดียวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้โอนคืนกระทรวงการคลังตามที่ส่งรายงานแล้ว จึงเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือของแผ่นดินที่ใช้เพื่อกิจการของรัฐและเป็นสาธารณ สมบัติของแผ่นดิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลัง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒
       
       ข้อ ๔. ผู้ฟ้องคดีใคร่ขอกราบเรียนให้เห็นภาพรวมของทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยแยกทรัพย์สินเป็นกลุ่มและเป็นส่วน ปรากฏตามตารางในเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๓ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       
       ๔.๑ กลุ่ม ๑ ทรัพย์สินที่ได้มาหรือก่อตั้งขึ้นก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ (ก่อนแปรรูป) ประกอบด้วย ๓ ส่วน ได้แก่
       
       ส่วน ก) ทรัพย์สินที่อยู่ในที่ดินเอกชนเดิม ประกอบด้วย :
       
       (๑) ที่ดินเวนคืนตามแนวท่อก๊าซจากจังหวัดระยองมายังจังหวัดสมุทรปราการ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔(๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘
       
       (๒) สิทธิการใช้ที่ดินรอนสิทธิสำหรับ ๓ โครงการ เป็นทรัพยสิทธิ์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔(๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุ
       
       (๓) ท่อส่งก๊าซในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ราชพัสดุ
       
       ทรัพย์สินส่วน ก. นี้ มูลค่าประมาณ ๑๖,๑๗๖ ล้านบาท เป็นส่วนที่บริษัท ปตท.แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐแล้ว
       
       ส่วน ข) ทรัพย์สินที่อยู่ในที่ดินราชการ ได้แก่ ที่ดินในเขตทางหลวง อันเป็นที่ดินที่กรมทางหลวงใช้อำนาจมหาชนของรัฐเวนคืนจากเอกชนมา เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างทางหลวงเท่านั้น ที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔(๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
        
       ดังนั้น ระบบท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินทางหลวงที่เป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งได้มีการใช้อำนาจมหาชนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทยประกาศเขตตามแนวท่อ ระบบท่อส่งก๊าซส่วนนี้จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย
       
       ทรัพย์สินส่วน ข. นี้ มูลค่าประมาณ ๑๔,๓๙๓ ล้านบาท บริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐ
       
       ส่วน ค) ทรัพย์สินที่อยู่ในที่สาธารณะ ได้แก่ ทะเลในน่านน้ำอาณาเขตประเทศไทย อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบบท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ติดอยู่กับทรัพย์สินสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน อีกทั้งได้มีการใช้อำนาจมหาชนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย ประกาศเขตตามแนวท่อ ระบบท่อส่งก๊าซส่วนนี้จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย
       
       ทรัพย์สินส่วน ค. นี้ มูลค่าประมาณ ๑๘,๒๒๐ ล้านบาท บริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐ
       
       ๔. ๒ กลุ่ม ๒ ทรัพย์สินที่ได้มาหรือก่อสร้างขึ้น หลังวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ (หลังแปรรูป) โดยใช้อำนาจมหาชนของรัฐ มาดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติกว่า ๑๐ โครงการตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๕๔ (ปรับปรุงปี ๒๕๔๘) รวมมูลค่าทั้งสิ้น ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท ทรัพย์สินกลุ่ม ๒ นี้ แม้ว่าจะใช้เงินทุนของบริษัท ปตท.แต่ก็มิใช่เหตุอันจะทำให้ทรัพย์สินกลุ่มนี้ไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ดิน ทรัพย์สินกลุ่ม ๒ นี้แบ่งได้เป็น ๓ ส่วน
       
       ส่วน ก) ทรัพย์สินที่อยู่ในที่ดินเอกชนเดิม ประกอบด้วย
       
       (๑) ระบบท่อส่งก๊าซใหม่บางโครงการ หรือบางส่วนของโครงการ เช่นโครงการท่อระยอง-บางปะกง และโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย อยู่ในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเดิมในกลุ่ม ๑ ส่วน ก. ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นที่ราชพัสดุ จึงมีความชัดเจนว่า ระบบท่อส่งก๊าซส่วนนี้ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นที่ราชพัสดุ ด้วย
       
       (๒) สิทธิการใช้ที่ดินรอนสิทธิใหม่ การที่บริษัท ปตท. ใช้อำนาจมหาชนไปรอนสิทธิที่ดินเอกชนในช่วงหลังแปรรูป มีผลให้ที่ดินที่เกิดขึ้นจากการรอนสิทธิใหม่เป็นของรัฐทันที และบริษัท ปตท. จะต้องโอนสิทธิการใช้ที่ดินรอนสิทธิใหม่คืนให้กับกระทรวงการคลัง
       
       (๓) ระบบท่อส่งก๊าซในโครงการที่อยู่ในที่ดินรอนสิทธิใหม่หลังแปรรูปเป็น อสังหาริมทรัพย์ที่ติดอยู่กับทรัพย์สินในข้อ (๒) ย่อมเป็นของรัฐเช่นเดียวกับสิทธิการใช้ที่ดินในข้อ (๒) ด้วย
       
       ทรัพย์สินส่วน ก. นี้มูลค่ารวมประมาณ ๕๘,๐๘๓ ล้านบาท ซึ่งบริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยก กลับไปเป็นของรัฐ
       
       ส่วน ข) ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินราชการ ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซในเขตทางหลวง มี ลักษณะเช่นเดียวกับทรัพย์สินส่วน ข. ในกลุ่ม ๑ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินส่วน ข. นี้ บริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยก กลับไปเป็นของรัฐ
       
       ส่วน ค) ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์บนที่สาธารณะ ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซในทะเลน่านน้ำอาณาเขตประเทศไทย มีลักษณะเช่นเดียวกับทรัพย์สินส่วน ค. ในกลุ่ม ๑. จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
       
       ทรัพย์สินส่วน ค. นี้ บริษัท ปตท.ยังมิได้แบ่งแยก กลับไปเป็นของรัฐ
       
       โดย สรุป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่บริษัทจะต้อง แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐ ได้แก่ ทรัพย์สินทั้งส่วนที่ได้มาหรือก่อสร้างขึ้นทั้งก่อนแปรรูปและหลังแปรรูป รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๕,๘๙๑ ล้านบาท(สองแสนห้าพันแปดร้อยเก้าสิบเอ็ดล้านบาท) ในขณะที่ทรัพย์สินที่บริษัท ปตท.ได้ทำการแบ่งแยกคืนให้กระทรวงการคลังมีเพียงทรัพย์สินในโครงการที่ผู้ ฟ้องคดีได้ยกตัวอย่างขึ้นในคำฟ้องเท่านั้น รวมมูลค่าประมาณ ๑๖,๑๗๖ ล้านบาท (หนึ่งหมื่นหกพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบหกล้านบาท) ดังนั้นยังมีทรัพย์สินที่บริษัทปตท. จะต้องแบ่งแยกคืนให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นอีกจำนวน ๑๘๙,๗๑๕ ล้านบาท(หนึ่งแสนแปดหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสิบห้าล้านบาท)
       
       ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และพวก ในฐานะคู่ความ จึงกราบเรียนต่อศาล ขอได้โปรดทำการไต่สวนและออกหมายเรียกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ มาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องแบ่งแยก คืนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินเพิ่มเติมเป็นมูลค่าอีก ๑๘๙,๗๑๕ ล้านบาท(หนึ่งแสนแปดหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสิบห้าล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ทำการแบ่งแยกคืนให้รัฐทั้งสิ้น ภายในกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
       
       ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง)
ผู้ฟ้องคดีที่ ๒(นางสาวรสนา โตสิตระกูล)
ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ (นางสาวบุญยืน ศิริธรรม)
และผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึง ๕       (นายชัยรัตน์ แสงอรุณ)

พิมพ์ อีเมล