แถลง 'จุดยืนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต่อกรณี ปตท. ยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5089

IMG 6192

       ด้วยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2557 บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) โดยนายไพรินทร์  ชูโชติถาวร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 นายวีรพงษ์  เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 3 และ นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 4 และนางสาวรสนา  โตสิตระกูล เป็นจำเลยที่ ๕ ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไร

       ปตท. ได้บรรยายในคำฟ้องว่า ปตท. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โดยในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม ปตท. ได้คิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ที่ใช้ชื่อว่า “ก๊อดจิ” ซึ่งมีลักษณะท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และใช้พื้นสีน้ำเงินขาว ซึ่งเป็นสีประจำของบริษัท ปตท.ฯ ในตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ก๊อดจิ โดยกลางหน้าอกของตัวก๊อดจิมีเครื่องหมายการค้าของ ปตท. พร้อมทั้งตัวย่ออักษรคำว่า “PTT” ซึ่งมาจากชื่อบริษัทของ ปตท. ว่า “Petroleum Authority of Thailand” และ ปตท. ได้ใช้ตัวการ์ตูนก๊อดจินี้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในธุรกิจของ ปตท. ในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมาถึงปัจจุบันจนเป็นลิขสิทธิ์การ์ตูน และเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายในประเทศไทย

       ปตท. ได้บรรยายคำฟ้องเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ตัวการ์ตูนก๊อดจิมีความแพร่หลายมากขึ้น  ปตท. ได้ว่าจ้างให้บริษัท ออพติมัน มีเดีย ไดเรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ทำการผลิตสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนก๊อดจิที่มีลักษณะท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ ในการสื่อความหมายแทนคำพูด เพื่อให้ผู้ใช้บริการโปรแกรมแอพพลิเคชั่นไลน์(Line) ดาวน์โหลดไปใช้งานอันเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการของ ปตท. อีกรูปแบบแก่ประชาชน

       นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ดำเนินการนำตัวการ์ตูนก๊อดจิที่ ปตท. คิดพัฒนาและใช้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 315504 ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 แนบเป็นเอกสารท้ายฟ้อง

       ปตท. ได้กล่าวหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมดว่า  เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557  ปตท. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิซึ่งเป็นงานประเภทศิลปกรรมได้ตรวจสอบพบว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิของ ปตท. เพื่อหากำไร ร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง โดยการนำเอาตัวการ์ตูนก๊อดจิในลักษณะท่านอนมาทำซ้ำ ดัดแปลงให้เป็นตัวการ์ตูนที่มีสีฟ้าและขาวเช่นเดียวกับงานลิขสิทธิ์ของ ปตท. แต่เปลี่ยนลักษณะเป็นท่ากำลังนอนอ้าปากซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับตัวการ์ตูนก๊อดจิ แล้วนำมาประกอบกับลวดลายต่างๆ และได้มีการตั้งชื่อว่า “คายมาจิ”

       ปตท. ยังได้กล่าวหาต่อไปว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปอีกโดยการลงประกาศขาย จำหน่าย รวมทั้งเป็นผู้ขาย เสนอขาย เสื้อยืดที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิผ่านทางเว็บไซต์ consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เฟสบุ๊ค “ไม่เคยลัก แบริเออร์” ของนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ  เฟสบุ๊ค “รสนา โตสิตระกูล” ของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

       โดยมีข้อความประกาศว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการจัดทำเสื้อคายมาจิตัวละ 150 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมด จำเลยทั้งห้าจะนำเอาเข้ากองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานซึ่งกำกับดูแลโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยได้มีการระบุวิธีสั่งซื้อเสื้อยืดคายมาจิ 2 วิธีคือ (1) วิธีการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ โดยให้โอนเงินบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” (2) ซื้อด้วยตนเอง ณ ที่ทำการสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเจ้าของบัญชีผู้มีอำนาจในการรับและถอนเงินจากบัญชี

       ปตท. ได้บรรยายในคำฟ้องเพิ่มเติมว่า เมื่อ ปตท. ได้รับทราบถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ทำการสืบสวนและพบว่าในการจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้ค่าตอบแทนจากการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ โดยผู้ซื้อสินค้าต้องโอนชำระค่าเสื้อเข้าบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 405-420031-3 ก็พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวีรพงษ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  และนายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ดูแลจัดการและได้รับผลประโยชน์จากการขายเสื้อยืดที่ประชาชนโดยทั่วไปสั่งซื้อ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็จะนำส่งเสื้อยืดให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

       ปตท.ยังได้บรรยายคำฟ้องอีกว่า ในส่วนของนางสาวรสนา โตสิตระกูล จำเลยที่ 5 นั้น ได้เสนอและสนับสนุนให้มีการจำหน่ายและแจกจ่ายเสื้อยืด โดยนางสาวรสนา ได้โพสต์เขียนข้อความเสนอและสนับสนุนการจำหน่ายเสื้อยืดว่า “....ภาพการ์ตูนนี้เอามาใช้เป็นแบบเสื้อเพื่อรณรงค์และหาทุนให้กับ “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” เพื่อกิจกรรมปฏิรูปพลังงานของภาคประชาชน...”

       “...จะถามให้นะคะว่าจำนวนมากพอไหมถ้าสั่งเป็น 100 และมีค่าจัดส่งไหมจะมาบอกค่ะ หรือจะโทรสอบถามตรงเลยก็ได้ที่ 0-2248-3734-7 ต่อ 110-127”
    นอกจากนี้ เพื่อดำเนินการส่งเสริมการขายเสื้อยืดให้แพร่หลายมากขึ้น นางสาวรสนา ได้นำเสื้อยืดมาใส่โดยแสดงตนเป็นพรีเซนเตอร์(Presenter) จากการกระทำดังกล่าว ปตท. ได้กล่าวหานางสาวรสนาว่า จึงเป็นร่วมกันการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงมีเจตนาขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย เผยแพร่ต่อสาธารณชนและแจกจ่ายซึ่งงานลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ปตท.เพื่อหากำไร

       ปตท. ได้กล่าวหา การกระทำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด เป็นความผิดตามมาตรา 27 , 31 , 69 และ 70 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  และในการฟ้องร้องคดีนี้ ปตท. ได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนล่าช้า ปตท.จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง 

      จากคำกล่าวหาทั้งหมดของ ปตท. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอชี้แจงต่อท่านสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป ดังนี้

       1.  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศของกระทรวงการคลัง มิใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ( Consumers International ) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสภาผู้บริโภคอาเซียน ( SEACC ) และตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิอันพึงพึงได้ของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องมั่นคงในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงานนั้น มีผลงานอันที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายประการ อาทิเช่น การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ.2548 จนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป(กฟผ.) , การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) เมื่อปี พ.ศ.2549 แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้รัฐบาลและ ปตท. ต้องร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แบ่งแยกสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  ซึ่งได้นำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ปตท. ได้แบ่งแยกคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังในเวลาต่อมาบางส่วน มีมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รายงานว่า มีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกประมาณ 32,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล และในปัจจุบันมูลนิธิฯยังเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานดำเนินการจัดการโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม และรวมถึงการลดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

       2. การจัดตั้ง กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน เป็นการดำเนินการภายใต้การดูแลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ที่มุ่งประสงค์การปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศให้มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเปิดบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 405-420031-3 เพื่อใช้เป็นช่องทางการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป การเบิกถอนต้องใช้ชื่อ 2 ใน 3 ของผู้ร่วมเปิดบัญชี ภายใต้กฎเกณฑ์ด้านการเงินการบัญชีของมูลนิธิฯที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบรัดกุม และมีการจัดทำผลิตภัณฑ์เสื้อยืดออกจำหน่ายเพื่อการระดมทุน โดยนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” รายได้ทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการมูลนิธิฯ มิได้มีการนำกำไรมาแบ่งปันให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

       3. กรณีนางสาวรสนา  โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สาขาปฏิรูปพลังงาน ได้ใส่เสื้อและถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอชี้แจงว่า นางสาวรสนา ไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นกรรมการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเลยแต่อย่างใด และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในกองทุนที่จัดตั้งแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้คุณรสนาได้ช่วยถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดและกิจกรรมของกองทุนโดยมิได้มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ การให้ความอนุเคราะห์ของนางสาวรสนาจึงเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตอาสา ด้วยความสมัครใจและบริสุทธิ์ใจเพื่อช่วยให้ประชาชนได้รู้จักช่องทางการบริจาคเงินให้กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานเป็นสำคัญ
โดยในวันที่ 30 มีนาคม 2558 เวลา 09.00 น. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง อย่างไรก็ดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใคร่ขอเรียนถึงคณะกรรมการ ปตท. ทั้งหมดผ่านทางสื่อมวลชนว่า บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) แม้จะมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ ปตท. ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เกินกึ่งหนึ่ง ประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าขององค์กรจึงย่อมมีสิทธิที่จะตรวจสอบการดำเนินการใดๆ ของ ปตท.ได้ และหาก ปตท. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลจริงก็มิควรจะมองว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบของประชาชนและผู้บริโภค จะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ ปตท. แต่อย่างใดเพราะแท้จริงจะเป็นการเสริมสร้างการประกอบการของ ปตท. ให้มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือต่อสายตาประชาชนเสียด้วยซ้ำ

       จึงขอให้คณะกรรมการ ปตท. ได้พิจารณาทบทวนการยื่นฟ้องและให้ถอนฟ้องคดีนี้ออกไปจากสารบบคดีความของศาลเสีย เพื่อมิให้ต้องเสียเวลาเสียงบประมาณทั้งของ ปตท. และของศาล อันเป็นภาษีของประชาชนทั้งสิ้นจะเป็นการดีที่สุด

ผู้ร่วมแถลงข่าว
     •  รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์  ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1

     •  นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 2

     •  นายวีรพงษ์  เกรียงสินยศ  กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 3

     •  นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 4

     •  นางสาวรสนา โตสิตระกูล  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำเลยที่ 5



แถลงข่าว ณ วันที่ 24 มีนาคม 2558
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์