มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้การทางพิเศษหยุดเก็บเงินทางด่วน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้การทางพิเศษหยุดเก็บเงินทางด่วนทุกเส้นทาง รวมทั้งขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ระยะเวลาในการรอชำระค่าผ่านทางการใช้ทางพิเศษของประชาชนไม่เกิน 3 นาที

7 พ.ย.54 เวลา 13.00 น.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้การทางพิเศษหยุดเก็บเงินทางด่วนทุกเส้นทางสืบเนื่องจากภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 1 เดือน จำนวนมากกว่า 20 จังหวัด รวมทั้งปริมณฑลและหลายเขตในกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องประสบปัญหา ไม่สามารถใช้เส้นทางโดยสารปกติ หรือการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เส้นทางจำนวนมากถูกน้ำท่วมและไม่สามารถใช้ในการสัญจรปกติได้ ทำให้การเดินทางของประชาชนจากหลายพื้นที่จำกัดและถูกบังคับให้ต้องใช้ทางด่วนพิเศษในการเดินทางเช่น การเดินทางจากถนนแจ้งวัฒนะ หรือถนนงามวงศ์วาน เข้าชั้นในของกรุงเทพมหานคร

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอความร่วมมือ จากทั้งรัฐและเอกชนในการยกเว้นการเก็บค่าทางด่วนในหลายเส้นทาง แต่ยังมีบางเส้นทางที่ยังมีการจัดเก็บเช่นเดิม อาทิเช่น สายบางโคล่ แจ้งวัฒนะ เป็นต้น

 

“ขอเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นการเก็บค่าทางด่วนในทุกเส้นทาง และสนับสนุนรัฐบาลที่จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้  รวมทั้งขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ทางพิเศษของประชาชนดังเช่นที่มีการกำหนดในบางประเทศ เช่น ประเทศอาเจนตินาที่กำหนดทั้งเรื่องระยะเวลาในการรอชำระค่าผ่านทาง และจำนวนยานพาหนะในการรอจ่ายเงินในแต่ละช่องทาง โดยมีการกำหนดให้การรอจ่ายเงินค่าทางด่วนต้องไม่เกิน 3 นาทีสำหรับเส้นทางพิเศษของรถประเภทเดียวกัน หรือ 5 นาทีสำหรับเส้นทางที่มีรถหลายประเภท หรือจำนวนรถสูงสดไม่เกิน 20 คัน ของรถที่รอชำระค่าผ่านทาง และเมื่อไหร่ที่เข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งทางพิเศษต้องเปิดทางให้กับรถทุกคัน ซึ่งไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้” เลขาธิการมูลนิธีเพื่อผู้บริโภคกล่าว

พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคมากขึ้น ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนในอุทกภัยในครั้งนี้

“เราจะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลและผู้บริโภคได้สนับสนุนให้การทางได้รับประโยชน์เกินเลยกว่าสัญญาสัมปทานที่รัฐมีให้กับเอกชน เนื่องการขึ้นราคาครั้งล่าสุดของการทางพิเศษจาก 50 บาทเป็น 55 บาท มีเงื่อนไขประกอบว่า จะขึ้นค่าผ่านทางได้ในกรณีที่มีรถยนต์ใช้บริการบนทางพิเศษไม่เกิน 250,000 คัน แต่ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้ทางพิเศษมีมากถึง 1,450,000 คัน รัฐบาลยังได้อนุมัติให้ขึ้นราคาและเป็นประโยชน์กับบริษัทเกินเลยผลประโยชน์ของประชาชน และผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระค่าผ่านทางที่ไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคหลายแสนคนคนยังได้สนับสนุนการจัดทำระบบผ่านทางแบบรวดเร็ว(Easy Pass) โดยใช้บัตรมัดจำค่าผ่านทางในราคาที่สูงมากกว่าราคาทั่วไปตั้งแต่ 800-1,000 บาท นอกจากนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังได้ให้สัมปทานป้ายโฆษณาสินค้าบนทางด่วนซึ่งในหลายประเทศห้ามมิให้มีการดำเนินการ เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายกับผู้ขับขี่รถยนต์หรือการดำเนินการจัดทำจุดพักรถและให้มีการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งสามารถผลประโยชน์ได้นอกเหนือจากการเก็บค่าผ่านทางซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก” นางสาวสารีกล่าว

โดยในวันที่ 7 พ.ย. 54 ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนผู้บริโภคจะไปรับฟังคำตอบจากประธานกรรมการและผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศที่กระทรวงคมนาคมเวลา 14.00 น.

พิมพ์ อีเมล