ผู้บริโภครับเงินชดเชย 278,500 หลังหมอ ร.พ.รามาธิบดีเยียวยา

ผู้บริโภคได้รับเงินชดเชย 278,500 บาทหลังหมอ ร.พ.รามาธิบดีผ่าตัดจอประสาทตาแล้วทำให้ตาบอดตลอดชีวิต ด้าน ร.พ.แสดงสปิริตดูแลเยียวยาและชดเชยความเสียหาย

 

วันที่ 29  มิถุนายน 54 เวลา 09.00 น. นางปภาวี  รอดแก้ว ผู้เสียหายพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัด เพื่อรับเงินชดเชยความเสียหาย กรณีที่นางปภาวี รอดแก้ว ได้เข้ารักษาผ่าตัดจอประสาทตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลรามธิบดี รวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 4 มีนาคม 2553, วันที่ 4 เมษายน 2553 และวันที่ 28 เมษายน 2553  ตามลำดับ ผลจากการรักษาพบว่าตาข้างซ้ายมืดบอดสนิท  ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้โรงพยาบาลรามาธิบดีชดเชยความเสียหายก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าจะชดเชยโดยการผ่าตัดต้อกระจกข้างขวาให้ใหม่ ผู้ร้องจึงไม่สามารถยอมรับได้เนื่องจากได้สูญเสียดวงตาข้างซ้ายไปกับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว

 

จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553  โดยส่งผ่านทางจดหมาย หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 โรงพยาบาลรามาธิบดีโดย นายธันย์ สุภัทรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และนางสาวหอมจันทร์  หอมแก่นจันทร์  เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาโรงพยาบาลรามาธิบดี นัดนางปภาวี  รอดแก้ว  ผู้เสียหายพร้อมครอบครัว และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อเจรจาหาข้อยุติกรณีร้องเรียน ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี  จากการเจรจาโรงพยาบาลยินดีชดเชยค่าความเสียหายให้กับผู้ร้องตามรายละเอียดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ร้อง เป็นเงินจำนวน 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสูญเสียรายได้

 

นางปภาวี กล่าวว่าค่าความเสียหายที่ได้รับจริงแล้วไม่ได้คุ้มกับการที่จะต้องสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง แต่ก็ถือว่าโรงพยาบาลได้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก” ผู้เสียหายกล่าว

นางสาวมัลลิษา  คำเฟย เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “กรณีที่ผู้บริโภคที่เข้ารักษาพยาบาลกับสถานพยาบาล หากเกิดความเสียหายขึ้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรจะทำคือการเก็บหลักฐานเช่น เวชระเบียน ร่องรอยบาดแผลโดยการบันทึกภาพไว้หรือให้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองในวันที่เกิดเหตุ  และสามารถร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ที่ โทรศัพท์ 022483737” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว

พิมพ์ อีเมล