ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ค้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยแร่

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย คัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ เหตุการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทำลายระบบนิเวศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้ชีวิตชุมชนท้องถิ่นให้เสื่อมโทรม

 

5 ก.ย. ในเวที เวที เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ประเทศไทย มีการสรุปบทเรียน   และนำเสนอปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ 15 พื้นที่ ณ โรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

จากผลการศึกษาพบพปัญหาผลกระทบที่รุนแรงอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่าง ๆ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ภาครัฐคาดหวังถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศแต่เพียงด้านเดียว แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการขุดเจาะทั้งแบบเปิดทำลายหน้าดิน หรือเป็นโพรงใต้ดิน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพในหลายมิติ นำมาซึ่งการทำลายแหล่งอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนท้องถิ่นให้เสื่อมโทรม โดยไม่มีหน่วยงานหรือผู้ประกอบการรายใดแสดงความรับผิดชอบ

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าจากการสะท้อนสภาพการณ์ปัญหาและบทเรียนการต่อสู้คัดค้านโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกัน จึงมีคำถามที่สำคัญคำถามหนึ่งว่า ‘รัฐ โดยเฉพาะกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้มีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ ได้ฆ่าคนแม่ตาว แม่กุ และคนพระธาตุผาแดง ตายไปกีคนแล้วจากโรคที่เกิดขึ้นจากการหายใจ กินข้าวและสัมผัสกับสาร
แคดเมี่ยมที่ปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่สังกะสี’ และประชาชน ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การทำเหมืองแร่อื่น ๆ จะถูกฆาตกรรมจากรัฐเหมือนกับคนแม่ตาวหรือไม่

รัฐได้บังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เปรียบเสมือน ‘โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน’ เพราะได้นำสินแร่ที่อยู่ใต้ถุนบ้านเรือน แหล่งทำมาหากินของประชาชน และชุมชน แปรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของภาษี อัตราค่าภาคหลวงแร่ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่น ๆ เข้าสู่คลัง ทั้ง ๆ ที่รายได้เหล่านั้นคือ ‘ผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม และสุขภาพของประชาชน’ ในพื้นที่ต่าง ๆ

มิหนำซ้ำรัฐยังได้กระทำย่ำยีเพิ่มเติมต่อประชาชนด้วยการผลักดันร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยวางหลักการ ‘โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการระบุว่า ‘แร่เป็นของรัฐ’ และ ‘ไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น’  ปัญหาดังกล่าวได้พัฒนาไปสู่ปัญหาสังคม ความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิบุคคล และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดนโยบาย บังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบและการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่ไม่เป็นธรรม

จากความทุกข์ของทุกคนที่เกี่ยวข้องใน 15 พื้นที่การสำรวจและการทำเหมืองแร่ที่ได้มาประชุมกันในครั้งนี้ มีข้อเสนอและประเด็นที่ต้องการสื่อสารให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ดังนี้

1. ประชาชนใน 15 พื้นที่ของการสำรวจและทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ ได้รวมตัวกันก่อเกิดเป็น ‘เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย’ ขึ้นนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งเครือข่ายฯ นี้จะทำหน้าที่ในการหนุนเสริมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่อย่างถึงที่สุด ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว

2. คัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการ และให้กฤษฎีกาตรวจแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ให้ถอนร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับดังกล่าวออกทั้งฉบับ เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิประชาชนด้วยการวางหลักการให้ ‘รัฐเป็นโจรปล้นแผ่นดินของประชาชน’ อย่างชอบธรรม โดยนิยามว่า ‘แร่เป็นของรัฐ’ ไม่มีเนื้อหาในเรื่องการขยายสิทธิในด้านการกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และไม่มีการเพิ่มขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ตามบทบัญญัติใหม่ของรัฐธรรมนูญ

3. คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ที่มองเห็นประชาชนที่ออกมาต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ว่าเป็น ‘ศัตรูของรัฐ’ และได้วางมาตรการเอาไว้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังและอาวุธเข้าสลาย ปราบปราม จับขัง ตั้งข้อหาประชาชนหากออกมาคัดค้านต่อต้านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่การต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาต่าง ๆ เป็นสิทธิและเสรีภาพโดยชอบธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภา

4. คัดค้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องการกำหนด ประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่กำหนดประเภทโครงการรุนแรงเอาไว้เพียง 11 ประเภท เท่านั้น เนื่องจากมติและประกาศดังกล่าวไม่เป็นไปตาม 18 ประเภทโครงการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ส่งเรื่องให้กับนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการทำเหมืองแร่ที่อยู่ในเขตชุมชนทั้งสิ้น ต่างจากการทำเหมืองแร่ในประเทศซีกโลกเหนืออย่างยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ที่มีความหนาแน่นประชากรต่ำมาก อยู่ห่างไกลจากชุมชนหลายกิโลเมตร การทำเหมืองในประเทศเหล่านั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในชุมชนท้องถิ่นมากนัก ดังนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกมติและประกาศดังกล่าว โดยกำหนดให้การทำเหมืองแร่ทุกประเภทและทุกขนาด ต้องเป็น ‘โครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง’ ตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย จะรวมตัวกันและร่วมกับพี่น้องประชาชนในเครือข่ายอื่น ๆ ผลักดันข้อเสนอในเรื่องการ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่  ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และประกาศประเภทโครงการรุนแรง ต่อรัฐบาลโดยตรง เพื่อให้บรรลุผลตามเจตนาที่วางไว้อย่างถึงที่สุด

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบการทำเหมืองแร่ประเทศไทยประกอบด้วย -   ๑.พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ๒.)พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ๓.)พื้นที่โครงการเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง ๔.)พื้นที่โครงการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ๕.)พื้นที่ทำเหมืองแร่สังกะสี อ.แม่สอด จ.ตาก ๖.)พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 3จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก  ๗.)พื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ๘.)พื้นที่สำรวจแร่ทองแดง อ.เมือง จ.เลย ๙.)พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ๑๐.)พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดมหาสารคาม ๑๑.)พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดขอนแก่น ๑๒.)พื้นที่สูบน้ำเกลือใต้ดินและเหมืองแร่เกลือหินจังหวัดนครราชสีมา ๑๓.)พื้นที่ขออนุญาตดูดทรายแม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ๑๔.)พื้นที่ทำเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา  ๑๕.)พื้นที่ลำเลียงถ่านหินและลานกองแร่จากพม่า  จ.เชียงราย


พิมพ์ อีเมล