เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเอาจริง เรียกประชาชนมีส่วนร่วม กำจัดโฆษณาแฝง-SMSกวนใจ

เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเคลื่อนไหว สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและจัดตั้งศูนย์ประสานงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เดินหน้าแก้ปัญหาแรกด้วยการกำจัดโฆษณาแฝงและ SMS กวนใจ-โหลดคลิปโป๊

ในงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค “เงินของเรา สิทธิของใคร” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันจันทร์ที่ 26 เมษายน ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี หัวข้อ “การให้ความเห็นกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ” ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาสิทธิของผู้บริโภคสื่อและการคุ้มครอง ดังนี้

การแก้ปัญหาระยะสั้น ทางเครือข่ายจะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการคุ้มครองสิทธิ ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคสื่อ แก้ไขปัญหาทั้งระบบด้วยการปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายตามสิทธิผู้บริโภค ตลอดจนวางโครงสร้างในระยะยาวด้วยการพัฒนาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ โดยในขั้นแรกจะจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน ที่ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐและเอกชน  สามารถทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ และทำงานโดยมีฐานองค์ความรู้รองรับเพื่อให้มีกระบวนการเยียวยาและชดเชยให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิการบริโภคสื่อ

ปัญหาที่ถูกยกมาถกเถียงเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในที่ประชุมมีสองประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาการควบคุมเวลาโฆษณา โดยเฉพาะในสื่อโทรทัศน์ที่พบว่ายังคงมีการโฆษณาแฝงอยู่ตามรายการต่างๆ โดยเฉพาะรายการเด็กและรายการข่าวที่ควรมีแต่ข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังมีการออกอากาศโฆษณาตรงและแฝนซึ่งเกินเวลาที่กฎหมายระบุไว้คือไม่เกิน 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง ส่วนอีกปัญหาหนึ่งก็คือการส่งข้อความ SMS อันเป็นการละเมิดสิทธิมายังผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

“ปัญหาการละเมิดสิทธิของคนใช้สื่อมือถือด้วย SMS นั้นมีหลายด้าน เช่น การจ่ายค่าบริการโดยผู้จ่ายไม่ทราบและยกเลิกบริการไม่ได้ การได้รับ SMS กวนใจจำพวกการโหลดเพลง ดูดวง ชิงโชค หรือโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการเชิญชวนให้โหลดสื่อลามกหรือชวนเล่นพนันซึ่งไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นเด็กและเยาวชน” นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัก ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวัง และสร้างสรรค์สื่อกล่าว

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนปัญหาที่ผู้เข้าร่วมเคยพบเกี่ยวกับปัญหาสองประเด็นหลักเช่น ปัญหาในเชิงเทคโนโลยีที่ผู้ใช้อาจไม่มีความรู้จนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น ปัญหาการจัดเรตติงที่เนื้อหาไม่ตรงกับระดับความเหมาะสม ปัญหาการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ตลอดจนการการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงเรื่องกฎหมายที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคและการประสานงานกับองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

“ดูเหมือนบ้านเรา เรื่องการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่มีปัญหาจริงๆ เช่นกรณีการสวมหมวกกันน็อกที่ตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ไม่จริงจังในการรักษากฎหมาย เพราะฉะนั้นต่อให้มีกฎหมายใหม่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าแค่กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่มีผล” นายสุทธิชัย ปัญญโรจน์ ผู้เข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น

พิมพ์ อีเมล