องค์กรผู้บริโภคยินดีกับ กรรมการ กทช ชุดใหม่ หวังว่าการประมูล 3G โปร่งใส รัฐไม่เสียประโยชน์

องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน แสดงความยินดีกับกรรมการกทช.ใหม่ 4 ท่าน พร้อมคาดหวังประธานใหม่ จะสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้การประมูล 3G โปร่งใส รัฐไม่เสียประโยชน์


Consumerthai
24 พ.ย. 52 -  นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชน ขอแสดงความยินดีต่อกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติทุกท่านที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กทช. พร้อมเสนอว่า ประธานกทช. และคณะควรเร่งรัดการดำเนินการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้มีปัญหาหลายประการ เช่น การคิดค่าบริการที่ไม่ถูกต้อง บัตรเติมเงินที่หมดอายุแล้วเงินหมด SMSกวนใจ ปัญหาการใช้โทรคมนาคมในการหลอกลวง ฉ้อโกง เป็นต้น พร้อมสนับสนุน สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมให้มีอิสระในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่รวมทั้งหวังว่า ประธานคนใหม่และคณะจะทบทวนแนวทางในการประมูล 3G โดยพิจารณาข้อเสนอของผู้บริโภค อย่างน้อย 5 ประการ นั่นคือ

การออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคู่กับการออกใบอนุญาต เช่น การออกประกาศค่าบริการขั้นสูงก่อนการประมูล เพราะการที่ กทช. ได้มีการตั้งราคาประมูลเพียง 4,600 -5,200 ล้านบาทตัวแทนผู้บริโภคมีความเห็นว่า เป็นการประมูลที่เอื้อประโยชน์ และมีเพียงผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท

จำนวนใบอนุญาต ควรต่ำกว่า 4 ใบ เพราะการกำหนดจำนวนใบอนุญาต 4 ใบ เป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญใน มาตรา 84 (5) ว่าด้วย “กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค” ทั้งนี้การให้ใบอนุญาตถึง 4 ใบ ในคราวเดียวกันแต่มีผู้ให้บริการรายใหญ่ไม่เกิน 4 ราย ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงได้ ซึ่งเหมือนเป็นการแจกใบอนุญาตมากกว่าการประมูลที่เป็นธรรม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคในที่สุด

การกำหนดให้ใช้โครงข่ายร่วมกันในระบบ 3 G กทช. เพราะปัจจุบันเสาส่งสัญญาณของทั้งสามบริษัทมีมากมายทั่วประเทศ และมีข้อมูลงานวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ ว่าด้วย “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม รวมทั้งกทช. ควรพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศสูงสุด เช่น การแยกส่วนการบริหารโครงข่าย และการให้บริการออกจากกัน ที่จะทำให้เกิด

อีกประการก็คือกทช. ต้องกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องให้มีการจัดบริการอย่างทั่วถึงให้แก่ผู้อยู่ห่างไกล ผู้ด้อยโอกาส และต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้พิการและชุมชนห่างไกล


รวมทั้งมีกลไกการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี 3 G ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การติดตามกำกับเนื้อหาการให้บริการเสริม(CONTENT) การล้อลวงเด็กผู้หญิง และการใช้เทคโนโลยีฉ้อโกงผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล