ผลโหวตผู้บริโภค"รถเมล์ยอดแย่ โฆษณาขายตรงเกินจริง-ไร้สาระ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา” ยอดเยี่ยมและยอดแย่ในความรู้สึกประชาชนทั่วประเทศ พบ “ปตท.-รถโดยสารสาธารณะ-โฆษณาขายตรงผ่านทีวี” ติดอันดับยอดแย่ โดยเฉพาะรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุปีละ 3-4 พันครั้ง

วานนี้ (26 เม.ย.) ในงานเปิดบ้าน “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดบ้านใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันว่า ในโลกที่เป็นอยู่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเอาเปรียบ ซึ่งคนที่มีความแข็งแรงในวิชาชีพ มีรายได้ ก็มักจะต่อสู้ได้ แต่สังคมไทยในปัจจุบันมีคนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าหากไม่มีคนช่วยคงไม่สามารถรักษาสิทธิได้ จึงเกิดแนวคิดสร้างกระบวนการประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือ

“ผมรู้สึกดีใจที่ขณะนี้มีความตื่นตัวในการรักษาสิทธิผู้บริโภค แต่เรื่องสิทธิผู้บริโภคยังอีกไกล และต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ในสิทธิของตนเอง เพราะตอนนี้เรายังไปไม่ถึงก้าวที่สองที่ทำให้ประชาชนรู้ตระหนักและรู้สิทธิของตนเอง”

นายอานันท์ กล่าวต่อว่า อยากเห็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นปึกแผ่นโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรนี้ และให้องค์กรนี้ทำหน้าที่เคียงข้างกับสภา เพราะปัญหาการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นได้เนื่องจากอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หากนักการเมืองไม่ดูแลประชาชน ก็เป็นหน้าที่เรากันเองที่ต้องทำงานกับฝ่ายกฎหมายเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมในสังคมไทยที่มีอยู่ หรือผลักดันกฎหมายใหม่ๆ เพื่อดูแลให้เรื่องสิทธิผู้บริโภคมีความมั่นคงและยังยืนยิ่งขึ้น

“อย่างปัญหาบ้านจัดสรร หากเราต้องลงไปดูแลบ้านจัดสรรทุกแห่งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีบ้านจัดสรรอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นควรปล่อยให้ผู้บริโภครู้สิทธิและดูแลกันเอง ขณะที่เราทำเรื่องกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม เพราะจะไปหวังพึ่งใครไม่ได้ แต่ต้องพึ่งตนเอง พูดให้มากขึ้น เขียนให้มากขึ้น และอ่านให้มากขึ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ ช่วยกันดูแลการใช้สิทธิให้ถูกต้องที่ไม่ใช่ดูแลผลประโยชน์” นายอานันท์ กล่าว

พร้อมทั้งยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเขามีหลักการที่ใช้ในดูแลองค์กรภายใต้ประชาสังคม โดยเห็นว่าสังคมทุกสังคมที่มีความเห็นขัดแย้งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากสังคมไม่มีสติและทางออกที่ดีพอ ความขัดแย้งจะนำไปสู่การแตกหักได้ ซึ่งทุกประเทศเคยผ่านเหตุการณ์แตกหักมาแล้วทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์ความแตกหักเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่หากเราเป็นสังคมที่มีสติ เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงความยุติธรรม โอกาสที่สังคมจะถึงขึ้นแตกหักก็น้อยลงไป

ในงานดังกล่าว ยังมีการเปิดผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ประจำปี 2551” ด้วย โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณายอดเยี่ยมและยอดแย่ในรอบปีที่ผ่านมา โดยสอบถามความเห็นประชาชนจำนวน 2,993 คน พร้อมเปิดให้มีการโหวตผ่านหน้าเว็บไซต์ของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และเว็บไซต์ www.consumerthai.org วารสารฉลาดซื้อ รายการกระต่ายตื่นตัว สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11

ทั้งนี้ การโหวตมีหลักเกณฑ์พิจารณา คือ ต้องเป็นสินค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยในส่วนของการโหวตยอดเยี่ยม ต้องไม่มีชื่อโหวตอยู่ในอันดับยอดแย่ ไม่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิ และไม่เป็นที่ถกเถียงในสังคมนั้น

ผลโหวตพบว่า ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมที่ได้รับการโหวตสูงสุด ได้แก่ “แป้งเด็กเบบี้มายด์” บริการยอดเยี่ยม ได้แก่ “บริการของธนาคารไทยพาณิชย์” และโฆษณายอดเยี่ยมได้ ได้แก่ “โฆษณาของบริษัทไทยประกันชีวิต ชุดแม่ต้อย” ขณะที่ผลโหวตยอดแย่ พบว่า ผลิตภัณฑ์ยอดแย่ได้แก่ “แก๊สและน้ำมันของบริษัท ปตท. “ บริการยอดแย่ ได้แก่ “บริการรถโดยสารสาธารณะ” ตั้งแต่ ขสมก. รถร่วมบริการ รถทัวร์ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถไฟ ส่วนโฆษณายอดแย่ ได้แก่ “การโฆษณาขายตรงผ่านทีวี” ที่มีการโฆษณาเกินจริง ไม่มีสาระ สินค้าไม่มีคุณภาพ

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า บริการรถโดยสารสาธารณะถือเป็นบริการยอดแย่ที่ได้รับการโหวตในอันดับต้นๆ และที่ผ่านมาจากงานวิจัยของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า ในแต่ละปีมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 ครั้ง ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยเป็นแผนงานในปี 2553 นี้ เนื่องจากเป็นบริการที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก และมีปัญหาการร้องเรียนบ่อย

ไม่เพียงแต่จะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานรถและบริการเท่านั้น แต่จะดูถึงผู้ให้บริการ คือ ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะด้วย เนื่องจากพบว่ามักมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว โดยเฉพาะรถสาธารณะที่เป็นบริการร่วมกับเอกชน เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องรายได้ ต้องแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้

{mxc}

 

พิมพ์ อีเมล