มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาล เรียก1ล้านผู้เกี่ยวข้องปลากระป๋องเน่า

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5794

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนายสำเริง สุดสวาท ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ จ.พัทลุง น.ส.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนผู้บริโภค จ.พัทลุงฟ้องศาล เรียก1ล้านผู้เกี่ยวข้องปลากระป๋องเน่า

กลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับมอบปลากระป๋องช่วยเหลือภัยน้ำท่วม เดินทางมายื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,บริษัท ทองกิ่งแก้ว ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิต , บริษัท ไทย เอ ดี ฟู๊ดส์ ผู้จำหน่าย , กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัททั้งสองเป็นจำเลย คดีผู้บริโภค ตาม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เรื่องละเมิดจัดหาสินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานและไม่มีความปลอดภัย บริจาคให้กับประชาชน เรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท กรณีที่กระทรวงพัฒนาสังคม ฯ ได้แจกถุงยังชีพ และปลากระป๋องบริจาค ยี่ห้อชาวดอยให้กับประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.พัทลุง ที่ภายหลังพบว่าเป็นปลากระป๋องเน่า



โดยโจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษา 1.ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายให้กับผู้บริโภคจำนวน 1 ล้านบาท 2.ขอให้ศาลเรียกกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จัดจำหน่ายมาเป็นจำเลยร่วมเนื่องจาก อาจจะมีการยักย้าย ถ่ายเททรัพย์สินที่ได้จากการขายปลากระป๋องไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคล หนึ่ง หรืออาจมีการฮั้วกับราชการ 3.ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินห้ามจำหน่ายสินค้า และให้เรียกเก็บ ทำลายสินค้าที่เหลือ รวมทั้งยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ก่อนที่จะมีการทำลายหรือปลอมแปลงเอกสาร เช่นบัญชีธนาคารของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ 4. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลง โทษเพิ่มขึ้น เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเกิดจากการกระทำโดยเจตนา เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

  น.ส.สารี กล่าวย้ำว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ได้หวังเรียกค่าเสียหาย แต่เป็นการฟ้องให้เป็นบรรทัดฐานให้หน่ายงานราชการที่มีหน้าที่จัดซื้อ จัดหาและจัดจ้าง ควรจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างดี เลือกของที่มีคุณภาพมีความปลอดภัย แม้ว่าสิ่งของบางอย่างจะเป็นการบริจาคหรือแจกให้ก็ตาม นอกจากการฟ้องแพ่งกับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง บริษัทผู้ผลิต-จัดจำหน่าย กรรมการ และผู้ถือหุ้นแล้ว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ผลิต 3 ข้อหา คือทำการผลิตอาหารปลอม และมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 27 (4) , ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน มาตรา 28 และผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

ข้อมูลจาก สำนักข่าวเนชั่น

พิมพ์