มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชวนผู้บริโภคโหวตผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่ ประจำปี 2551

Consumerthai – 17 ธ.ค. 51 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจับมือหน่วยงานรัฐ/เครือข่ายนักวิชาการและภาคเอกชน ชวนผู้บริโภคโหวตผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่ ประจำปี 2551

ร่วมโหวตได้ที่นี่ค่ะ...

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทั้งมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว,สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค,สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม,กรมการค้าภายใน,สภาอุตสาหกรรม,คณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม หอการค้าไทย, โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ, สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล,นักวิชาการ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภค แถลงข่าวเปิดตัวโครงการผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา ยอดเยี่ยม ยอดแย่ ประจำปี 2551 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

รศ.ดร จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการฯ กล่าวว่าโครงการนี้จัดขึ้น เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่าหนึ่งเสียงของประชาชนสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางสังคมได้ จึงจัดให้มีกิจกรรมสำหรับผู้บริโภคเพื่อเน้นให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้า บริการและโฆษณาในประเทศ ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมถึงพฤติกรรมที่น่ายกย่องของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ โดยโครงการดังกล่าวใช้ชื่อว่าโครงการผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณา ยอดเยี่ยม/ยอดแย่ประจำปี พ.ศ. 2551

“วัตถุประสงค์ที่เราจัดขึ้นมาก็คือเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสังคมในเรื่องของสิทธิผู้บริโภคและการละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการที่ให้ความเคารพต่อสิทธิผู้บริโภคโดยเชิญชวนให้ประชาชน ผู้บริโภคร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการโหวต โดยเราจะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นนักวิชาการจากหลายส่วนเข้าพิจารณาและเชื่อว่าจะมีความเป็นธรรมในการตัดสินการโหวตครั้งนี้ และการจัดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกจึงอยากให้ร่วมกันโหวต เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศไทย” ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

 

ด้านรองศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตอาหารมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ประกอบกับกระแสความต้องการความแปลกใหม่ ความสวยงาม หรือผลในเชิงสุขภาพ ทำให้พบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งดึงดูดใจผู้บริโภคในทุกสถานะและทุกวัย ทั้งนี้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้บริโภคและอิทธิพลของสื่อทำให้ผู้บริโภคยุคนี้ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิตและผู้ทำสื่อที่ขาดจรรยาบรรณ ซึ่งมีผลตั้งแต่ความไม่คุ้มค่าของเงินที่เสียไป จนถึงความเสียหายที่รุนแรงต่อสุขภาพ

“สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานวิชาการ เราก็ยินดีที่จะเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นกลางด้านอาหารและโภชนาการ และสนับสนุนกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กิจกรรมการสนับสนุนกิจกรรมการมอบรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการ/โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ ซึ่งทางสถาบันคาดหวังว่าการมอบรางวัลดังกล่าวจะเป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นผู้บริโภคให้มีจิตสำนึกในการคุ้มครองตนเอง และใช้มาตรการทางสังคมลงโทษผู้ประกอบการที่ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพและอาศัยช่องว่างของกฏหมายในการแสวงประโยชน์จากผู้บริโภค” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

 

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่าโครงการนี้เป็นเหมือนกระจกที่จะสะท้อนสังคมของเราออกมาว่าเป็นอย่างไร และถึงแม้ผลการโหวตผลิตภัณฑ์ยอดแย่ที่ออกมาแล้วว่าผลิตภัณฑ์นี้แย่ที่สุด ก็จะเชื่อว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ทางผลิตภัณฑ์นั้นพัฒนาคุณภาพและบริการตัวเองให้ดีขึ้น

“ผู้บริโภคในสังคมไทยปัจจุบันเปรียบเหมือนยักษ์ที่กำลังหลับอยู่ ไม่ว่าสื่อจะโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านเข้ามาก็จะรับไว้หมด กินหมด ถ้าเราสามารถทำให้ยักษ์อย่างพวกเราตื่นขึ้นมาได้ก็จะดี” ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถร่วมโหวตได้ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา ยอดเยี่ยม ยอดแย่ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2552 ผ่านหลายช่องทาง ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมทั้งเว็ปไซต์ของหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้จะมีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยเอแบคโพลล์ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญด้วย และจะประกาศผลการโหวตในวันที่ 30 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

พิมพ์ อีเมล