คนไทยจ่ายค่ามือถือเป็นรองแค่ค่าอาหาร

วันนี้มีข้อมูลการสำรวจของศูนย์วิจัยและคิดค้นนวัตกรรมของเทเลนอร์ เอเชียแปซิฟิก (TRICAP) ซึ่งสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่และการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มคนวัยหนุ่มสาว


 
การวิจัยสำรวจของ TRICAP ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทไซโนเวท ใช้วิธีสัมภาษณ์คนไทยอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี จำนวน 1,148 คนที่อาศัยอยู่ในเมือง 
   
 ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ พบว่า คนไทยรุ่นใหม่นิยมสื่อสารกับเพื่อนทางเสียงมาก กว่าการส่งข้อความทางเอสเอ็มเอส ในไทย    มีการส่งข้อความทาง  เอสเอ็มเอสโดยเฉลี่ยแค่ 3 ข้อความต่อวัน มาเล เซีย 18 ข้อความต่อวัน ปากีสถาน 6 ข้อความต่อวัน และบังกลาเทศ 5 ข้อความต่อวัน 
    
เกือบ 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ระบุว่า ชอบคุยทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งเอสเอ็มเอส
    
เยนส์ โอลาฟ บยอร์นสัน อธิบายว่า  การที่คนไทยนิยมสนทนาทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งข้อความชี้ให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวในประเทศไทยมีความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นข้อพิสูจน์ว่า หนุ่มสาวชาวไทยเห็นคุณค่าของการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางเสียง มากกว่าวิธีที่ค่อนข้างห่างเหินอย่างการสื่อสารกันทางการส่งข้อความ ซึ่งได้รับความนิยมมากในหมู่คนรุ่นใหม่ของประเทศอื่น ๆ
    
ส่วนพฤติกรรมการซื้อมือถือของคนไทย พบว่า กว่าครึ่งให้ความสำคัญต่อแฟชั่น  จึงต้องการมือถือที่  ดูแตกต่างไปจากคนอื่น และจะเปลี่ยนมือรุ่นใหม่ ๆ ภายใน 6 เดือน ระยะเวลาที่เก็บโทรศัพท์มือถือไว้ใช้นาน 1 ปีครึ่ง และเหตุผลหลักในการเปลี่ยนคือ โทรศัพท์เครื่องเก่าล้าสมัยแล้ว  
 
ข้อมูลการสำรวจ ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนไทยวัยหนุ่มสาวที่ตอบแบบสำรวจ เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นรองเพียงค่าอาหาร หรือ 15.07% ของรายได้ต่อเดือน ในขณะที่เสียค่าอาหาร 32.67% ของรายได้ต่อเดือน
 
ในการศึกษาระดับภูมิภาค คนไทยวัยหนุ่มสาวจัดอยู่ ในกลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดในการรับเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้โทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร 52% ใช้เล่นเกม 29% และ 55% เพื่อการแบ่งปันข้อมูลผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ นอกจากนี้ อีก 16% บอกว่าใช้มือถือเพื่อสื่อสารกับรายการโทรทัศน์ ทั้งการโทรศัพท์ไปพูดคุยและส่งข้อความร่วมโหวตให้รายการเรียลิตี้โชว์ 
 
สำหรับการศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีออนไลน์ พบว่า เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ประมาณเดือนละ 20 วัน ส่วนใหญ่เน้นอ่านข่าว เช็กอีเมล ท่องเว็บ เล่นเกมออนไลน์และดาวน์โหลดเพลง 
 
เหตุผลหลักของการเข้าเว็บไซต์สังคมออนไลน์ของคนไทย ก็เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับผู้ติดต่อคนอื่น ๆ หาและอวดรูปถ่ายกิจกรรม แต่คนที่ไม่ชอบก็บอกว่า สังคมออนไลน์เป็นเรื่องของผู้หญิง ผู้ชายไม่ค่อยชอบเขียนอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ
 
อ่านจบแล้ว ลองหันมามองตัวเอง ตรงกับที่เค้าสำรวจมาสักข้อมั้ย
 
ส่วนดิฉันน่ะตรงกันข้าม เพราะเสียเงินเรื่องกินของลูกสี่ขามากกว่าเรื่องอื่น ๆ.

ปรารถนา  ฉายประเสริฐ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นสพ.เดลินิวส์  29 / 01/52
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=69106&NewsType=2&Template=1

พิมพ์ อีเมล