สปช.ชง กสทช.สั่งคิดค่าโทรเป็นวินาที

saree580107

สภาปฎิรูปแห่งชาติ ชงให้คสช. ปรับปรุงโครงสร้างกสทช. ให้สามารถทำหน้าที่กำกับ ดูแลกิจการโทรคมนาคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมหนุนข้อเสนอเรื่องให้คิดค่าโทรฯ ตามจริงเป็นวินาที

วันนี้ ( 6 ม.ค. 58 ) ในเวทีอภิปรายสภาปฎิรูปแห่งชาติ ( สปช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำเสนอประเด็นเรื่องขอให้คิดค่าโทรศัพท์ตามเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาทีต่อ น.ส.ทัศนา บุญทอง ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ 

นางสาวสารีกล่าวว่า "จากข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยในปี 2014 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร รวม 67.9 ล้านคน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวม 94.3 ล้านราย (คิดเป็นสัดส่วน 138.7 %) เป็นแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (เติมเงิน Pre Paid) 82.3 ล้านราย เป็นแบบรายเดือน (Post Paid) 11.7 ล้านราย โดยแบ่งตามกลุ่มระบบผู้ให้บริการ คือ กลุ่ม AIS เจ้าของคือ บ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน ) (AIS) บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบ.ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) กลุ่ม TRUE เจ้าของคือ บ.ทรูมูฟ จำกัด (TRUE MOVE) บ. เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) บ. เรียล มูฟ จำกัด (Real Move) (MVNO บนโครงข่ายของ CAT) กลุ่ม DTAC เจ้าของ บ. โทเทิ่ล แอ็คเซีส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) บ.ดีแทค ไตเน็ต จำกัด (DTN) กลุ่ม CAT เจ้าของ กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ กลุ่ม TOT เจ้าของคือ บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัญหาว่าปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ทุกรายในประเทศไทย คิดค่าบริการตามระยะเวลาเป็นนาที โดยปัดเศษของวินาที เป็นหนึ่งนาที ผู้บริโภคร้องเรียนว่า คิดค่าบริการไม่เป็นธรรม ควรคิดตามระยะเวลาที่ใช้งานจริง เป็นวินาที เช่น 2 นาที 30 วินาที ปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที ก็เป็น 3 นาที หรือ จาก 4 นาที 5 วินาที ปัดเศษ เป็น 5 นาที"

นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากสภาพปัญหาพบว่า การนับระยะเวลาโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาทีเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ โดยสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กำหนดให้เรียกเก็บ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ตามระยะเวลาจริงจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมด โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ ในขณะที่ต้นทุนการให้บริการนับระยะเวลาตามจริงเป็นวินาที โดยห้ามปัดเศษ แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุกครั้งของการใช้งาน แบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ เห็นได้ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลาการใช้บริการโทรคมนาคมในหลายลักษณะ อาทิ ประเทศอินเดีย และสเปนมีการกำหนดให้คิดค่าโทรตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาที และสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ IR (International Roaming) โดยให้คิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาที ตั้งแต่วินาทีที่ 31 ขึ้นไปคิดค่าโทรตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที"

"การกำกับ ดูแล กิจการโทรคมนาคมและคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย กสทช. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการคิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการ คือประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และ ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 แต่ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มิได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคิดค่าบริการว่าจะต้องคิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และปัจจุบัน ประเทศไทย จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องคิดค่าบริการตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที" ประธานกรรมาธิการกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้เวทีอภิปรายมีสมาชิกสภาปฎิรูปฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเรื่อง ปัญหาการคิดค่าโทรโดยปัดเศษนี้ สะท้อนภาพของตลาดโทรคมนาคมที่ผูกขาด ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก และการไม่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ของ กสทช. ดังนั้น ควรจะต้อง ปฏิรูป กสทช. และปฏิรูปโครงสร้างตลาดไม่ให้ผูกขาด ส่วนเรื่องการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ทำได้เร็วก็ทำไป ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาวิธีให้บริษัทฯ เหล่านี้ต้องคืนเงินที่ไม่ควรได้จากกรณีนี้ให้กับประชาชน ก็จะเป็นประโยชน์
และกสทช. เป็นองค์การอิสระที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น ก็ควรเข้าไปปรับปรุง แก้ไข โครงสร้างขององค์กร ให้สามารถทำหน้าที่ กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งคณะกรรมาธิการสื่อสารฯ ของ สปช. ก็จะรับไปศึกษาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างของ กสทช.

จากการอภิปรายสมาชิก สปช. ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องให้คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที จากสมาชิก 221 คน เห็นด้วย 211 คน ไม่เห็นด้วย 3 คน และงดออกเสียง 7 คน และที่ประชุมยังมีมติให้ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง (ให้กิจการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง และปฏิรูป กสทช. ให้สามารถทำหน้าที่กำกับ ดูแลกิจการโทรคมนาคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

พิมพ์ อีเมล