ศาลชี้... มพบ.เตือนหน่วยงาน/ผู้ประกอบการอย่าละเมิดสิทธิผู้บริโภค

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 42457

13303494741330349515l
ศาลอุทธรณ์ ชี้ชัด การเคหะแห่งชาติ บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายชาวบ้านเอื้ออาทรรังสิต

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยคำพิพากษาคดีชาวบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 5/3 ซึ่งถูกการเคหะแห่งชาติฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรีและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ตัดสินเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า การบอกเลิกสัญญาของการเคหะแห่งชาติไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่อยู่ภายใต้ประกาศของ สคบ. การเคหะฯจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านเอื้ออาทรได้

นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ศาลได้วินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงินที่ธนาคารทำกับผู้บริโภคเพื่อกู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร โดยมีการเคหะแห่งชาติเป็นผู้ค้ำประกันนั้น เป็นสัญญากู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภค ต้องอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ซึ่งในคดีนี้บันทึกต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 1.2 ระบุว่า ในระหว่างที่ผู้กู้ยังมิได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ หรือจำนองหลักประกัน หากผู้กู้ไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหรือผิดเงื่อนไขข้อตกลงอื่นๆ ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะเลิกสัญญาดังกล่าวได้ทันที และผู้กู้ยินยอมให้การเคหะแห่งชาติ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ หากชำระหนี้ไม่เพียงพอ ผู้กู้ยอมรับใช้ให้จนครบถ้วนนั้น ขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 4 (3)

“ส่วนเรื่องการบอกเลิกสัญญาของการเคหะแห่งชาติก็ไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้อง เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว

ดังนั้น การที่สัญญากู้ยืมเงินที่ผู้กู้ทำกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ และกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี” นายโสภณ กล่าว

ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวต่อว่า แม้ชาวบ้านที่ทำสัญญาซื้อบ้านเอื้ออาทร และเป็นผู้กู้ตามสัญญากู้เงินกับธนาคารจะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาหรือล่าช้าไปบ้าง แต่ธนาคารต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อน ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

"จากกรณีนี้เป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการต่างๆได้ที่ไม่ควรละเมิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการที่ดีควรถือเอาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งในธรรมาภิบาลองค์กร" ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

 

download001

 ภาพประกอบ : มติชน

พิมพ์