ศาลปกครองสั่งกทม.ทุบ โรงแรมกลางซอยร่วมฤดี ผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ

เขียนโดย ประชาชาติธุรกิจ. จำนวนผู้ชม: 31904

http://thinkofliving.com/wp-content/uploads/2012/02/IMG_4615.jpgศาลปกครองออกคำ สั่งผู้ว่าฯ กทม.-ผอ.เขตปทุมวันต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทุบโรงแรมกลางกรุง ซ.ร่วมฤดี เหตุอนุมัติก่อสร้างทั้งที่ถนนหน้าอาคารกว้างไม่ถึง 10 เมตร

เมื่อ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา คดีที่ 1475/2551 ระหว่าง นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์หลวง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี รวม 24 ราย มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องเป็นเจ้าพนักงานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรณีออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนคือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส ก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2551

ศาลพิเคราะห์ข้อมูล หลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องนำเสนอแล้วเห็นว่า ซอยร่วมฤดีเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความ กว้างไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ได้รังวัดสอบเขตทาง ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่กฎหมายกำหนดห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มี ความกว้างไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนวนั้น เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่เนื่องจากอาคารที่เป็นข้อพิพาทก่อสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยและเปิดดำเนิน กิจการเป็นโรงแรม จึงน่าจะเข้าข่ายในกรณีที่เป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ได้ กทม.และสำนักงานเขตปทุมวันจะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือ บางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน

หาก ไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง สำนักงานเขตมีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งได้ และดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร ผู้ควบคุมงาน และผู้ดำเนินการ จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด

ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยังไม่ทราบคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว แต่จะเรียกผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.เข้าหารือ และต้องรอดูท่าทีของบริษัทเอกชนที่จะต้องรื้อถอนอาคารว่าจะอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่ เพราะเป็นสิทธิที่จะทำได้

ขณะที่นายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร แต่เบื้องต้นยังไม่ขอออกความเห็นใดๆ จนกว่าจะตรวจสอบเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้น

นาง ภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าว และยังไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพราะเอกสารอยู่ที่ฝ่ายโยธาเขต ต้องรอตรวจสอบในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน ผู้ที่รับทราบรายละเอียดคือ นายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตปทุมวันในขณะนั้น เพราะตนเพิ่งมารับตำแหน่งช่วงปี 2553

พิมพ์