"กรณ์"คาดปี"54เริ่มเก็บภาษีที่ดิน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 6065

นายกฯถกพี่เลี้ยงนอกพรรคร่วมรัฐบาล ถามความเห็นถึงแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ "สุเทพ"เผยทุกคนบอก รบ.มาถูกทางแล้ว "กรณ์"คาดปี 2554 เริ่มเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน ระบุมีรายได้ 6-7 หมื่นล้าน/ปี แทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เล็งเก็บภาษีบ้าน-ที่อยู่อาศัยต่อ เลิกยุ่งภาษีมรดกอ้างยุ่งยาก ปลัดคลังนัดเคาะโครงการครั้งสุดท้ายใช้เงินกู้ 2 แสนล้าน รมว.พลังงานยันช่วยชดเชยภาษียน้ำมันแค่เดือนเดียว

@ รบ.ถก"ศก."กับพี่เลี้ยงนอกพรรค

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม ที่บ้านพิษณุโลก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นัดหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมใจชาติพัฒนา และว่าที่ ร.ต.ไพ โรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน

ที่รัฐสภา นายสุเทพให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า ไม่ใช่การประชุมแกนนำพรรคร่วม เพราะคนที่มาเป็นคนที่อยู่นอกพรรค แต่เป็นการปรึกษาเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากคนนอกว่า ประชาชนคิดอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยและสนับสนุนกับวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมบอกว่าเดินมาถูกทางแล้ว และหวังว่ามาตรการทั้งหลายของรัฐบาลจะกอบกู้เศรษฐกิจได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากคุยแล้วมั่นใจหรือไม่ว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ (พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท พ.ร.ก.เพิ่มเพดานภาษีสรรพสามิตน้ำมัน พ.ร.ก.เพิ่มเพดานภาษีสรรพสามิตยาสูบ) จะผ่านสภา นายสุเทพกล่าวว่า ไม่มีปัญหา เราไม่ได้ห่วงเรื่องกฎหมาย ที่ไปคุยเพราะอยากฟังความเห็นจากคนที่มีประสบ การณ์ อย่างนายบรรหาร เคยเป็นอดีตนายกฯมาก่อน เมื่อถามว่าจุดประสงค์ของการหารือคือเช็คเสียงรัฐบาลหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ใช่ เพียงแค่มาฟังเสียงคนนอก และขอคำแนะนำเฉยๆ เพราะเราก็เหมือนนักมวย อยู่บนเวที ก็ต้องถามพี่เลี้ยง คนดูหน่อย ว่าชกเป็นอย่างไร

@ "กรณ์"คาดปี2554เก็บภาษีที่ดิน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ว่า อยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม. พิจารณาภายในปีนี้ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ในปี 2554 การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำรายได้ให้รัฐได้ปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่จะหายไป



นายกรณ์กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการเน้นการหารายได้ เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บเป็นของท้องถิ่น แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบภาษีให้เหมาะสม ซึ่งจะนำมาใช้จัดเก็บทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากโครงสร้างเดิมไม่ยุติธรรม

นายกรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีโรงเรือนไม่ได้จัดเก็บตามมูลค่าของที่ดิน แต่จัดเก็บตามรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้จากทรัพย์สินต้องเสียภาษี ขณะที่ที่ดินเปล่าไม่ต้องเสียภาษี ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ อ้างอิงการประเมินมูลค่าที่ล้าสมัยตั้งแต่ปี 2524-2525 จึงต้องปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งต่างประเทศการจัดเก็บภาษีที่ดินของท้องถิ่นคิดเป็น 70-80% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น ขณะที่ของไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของรายได้ท้องถิ่นเท่านั้น

@ เล็งเก็บภาษีบ้าน-เลิกยุ่ง"มรดก"

"เบื้องต้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ผู้ที่ไม่ได้ ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องเสียภาษีสูงกว่าผู้ใช้ประโยชน์ และอาจยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินแปลงขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อย ใช้เป็นที่ดินทำกิน เพื่อให้ผู้มีที่ดินเปล่าจำนวน มากๆ นำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ อาจจะนำที่ดินมาให้เกษตรกรเช่าทำกิน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตรรกะในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากยังมีประชาชนยากจนจำนวนมากไม่มีความสามารถเข้าถึงที่ดิน" นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด จะจัดเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อเป็น รายได้กลับมาบำรุงท้องถิ่น เนื่องจากบ้านพักอาศัยของประชาชนต้องใช้ประโยชน์จาก ระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่น ควรจ่ายเงิน สนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างประโยชน์กลับคืนมา แต่การจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากค่อนข้างยุ่งยาก และหลายประเทศลดบทบาทของภาษีมรดกไปมากแล้ว จึงขอเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินก่อน

@ คัดโครงการใช้เงินกู้2แสนล.

ส่วนกรณีที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท โดยวงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการคลัง และอีก 2 แสนล้านบาท ไว้ลงทุนโครงการต่างๆ ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ในช่วงปีงบประมาณ 2553 นั้น แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการลงทุนภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท จะเรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อสรุปความพร้อมโครงการเป็นครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะโครงการที่จะเริ่มลงทุนได้ในช่วงปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552)

"คณะกรรมการเห็นว่าโครงการลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมและสามารถเริ่มต้นในช่วงปีงบประมาณ 2553 ได้ทันที จะต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมอย่างแท้จริง เพราะมีความสำคัญมากต่อการใช้เงินกู้ ที่จะมีภาระในเรื่องดอกเบี้ยตามมาด้วย หากโครงการใดไม่มีความพร้อม อาจถูกตัดออกไป ซึ่งโครงการที่มีความพร้อม และเริ่มต้นได้ทันที ที่เสนอเข้ามาในขณะนี้ มีวงเงินสูงถึง 1,063,673 ล้านบาท แต่งบประมาณที่เริ่มดำเนินการได้ในช่วงปีงบประมาณ 2553 มีเพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว

@ คลังประกาศเพิ่มภาษีน้ำมัน-บุหรี่

นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลัง พ.ร.ก.ขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันจากลิตรละ 5 บาท เป็น 10 บาท และขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่จาก 80% เป็น 90% ของมูลค่าหน้าโรงงานหรือมูลค่านำเข้า มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงเพื่อให้มีผลบังคับเกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษีให้มีผลทันทีวันที่ 14 พฤษภาคมเช่นกัน โดยอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อลิตร แต่รัฐบาลจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยลดภาระของประชาชนในช่วงแรก ส่วนภาษีสรรพสามิตยาสูบจะจัดเก็บในอัตรา 85% จะทำให้บุหรี่ในประเทศปรับขึ้นประมาณ 10-13 บาทต่อซอง บุหรี่ต่างประเทศปรับขึ้นประมาณ 15-17 บาทต่อซอง

"การจัดเก็บภาษีทั้งสุรา ยาสูบและน้ำมันเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในส่วนของบุหรี่นั้นเป็นการกำหนดเพดานราคาปลีกเท่านั้น แต่ราคาที่จะปรับขึ้นเท่าใด ขึ้นกับผู้จำหน่าย" นพ.พฤฒิชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพสามิตประ กาศเพดานราคาขายปลีกบุหรี่ คือ กรองทิพย์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 45 บาท เป็น 58 บาท วันเดอร์จาก 32 บาท เป็น 42 บาท แอลเอ็ม จาก 49 บาท เป็น 60 บาท และมาร์ลโบโร จาก 68 บาท เป็น 83 บาท

@ กองทุนน้ำมันช่วยแค่1เดือน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน มีผลวันที่ 14 พฤษภาคม กระทรวงพลังงานก็ประกาศลดการจัดเก็บเงินส่งกองทุนน้ำมันมีผลวันเดียวกันนี้ เช่น เบนซิน 91 และ 95 ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อลิตร ก็จะลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2.20 บาทต่อลิตร เป็นต้น แต่กระทรวงพลังงานจะใช้เงินกองทุนเข้ามาลดภาระเพียง 1 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นจะทยอยปรับเพิ่มการส่งเงินเข้ากองทุนฯคาดว่าจะทยอยปรับ 2-3 ครั้ง ใน 1 เดือน โดยอาจทยอยขึ้นครั้งละ 60-70 สตางค์ต่อลิตร ในช่วงราคาน้ำมันขาลง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากประกาศกระทรวงการคลังเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะไม่มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันใหม่ เช่น เบนซิน 95 จากเดิม 7 บาทต่อลิตร เหลือ 4.80 บาทต่อลิตร (ดูกราฟิคประกอบ)

นายวีระพลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนนี้จะทำให้กองทุนมีภาระการชดเชยเดือนละประมาณ 5,300 ล้านบาท ขณะที่ก่อนการชดเชยกองทุนมีเงินไหลเข้าเดือนละ 3,600 ล้านบาท เมื่อมีการชดเชยทำให้กองทุนมีเงินไหลออกเดือนละ 1,700 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปอุดหนุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนน้ำมันมีภาระหนี้ที่ต้องชดเชย ได้แก่ การนำเข้าก๊าซหุงต้มที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำรองจ่ายไปก่อน รวมทั้งการชดเชยพลังงานทดแทน รวม 1 หมื่นล้านบาท

นสพ.มติชน 15-05-52

พิมพ์